โรคตะวันตก โรคจากอาหารยุคใหม่กินอร่อย ตายผ่อนส่ง
โรคตะวันตกเริ่มส่อเค้า ว่า มีความเกี่ยวดองกับอาหารตะวันตก มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว
เพราะช่วงนั้น เป็นช่วงที่เหล่าหมอชาวยุโรปและอเมริกันผู้หาญกล้า ไม่ว่าจะอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ และเดนิส พี. เบอร์กิตต์ ที่ทำงานอยู่แอฟริกา
โรเบิร์ต แมคคาร์ริสันที่ทำงานอยู่อินเดีย ซามูเอลฮัททัน ผู้ทำงานกับชาวเอสกิโมที่ลาบราดอร์
อเลส เฮิร์ดลิคกา นักมานุษยวิทยาที่ทำงานกับชาวอเมริกันพื้นเมือง และเวสทัน เอ. ไพรซ์ ทันตแพทย์ที่ทำงานกับชนเผ่ากว่า 10 เผ่าทั่วโลก
(รวมทั้งชาวอินเดียนแดงที่เปรู ชาวอะบอริจิน ที่ออสเตรเลีย ชาวเขาที่สวิตเซอร์แลนด์)
ได้ไปประจำการอยู่กิน ร่วมกับชนพื้นเมืองทั่วทุกมุมโลก พร้อมตั้งข้อสังเกตและส่งข่าวทำนองเดียวกัน
มาบอกคนทางบ้านว่าโรคเรื้อรังที่มีให้เห็นอยู่ดาษดื่นในตะวันตก ทั้งยังมีรายงานในวารสารการเเพทย์นั้น แทบไม่พบในชั้นพื้นเมืองที่พวกเข้าศึกษาหรือให้การรักษาเลย
ความที่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง
หรือโรคสมองขาดเลือดนั้น มีให้เจอน้อยมากจนแทบไม่มี
ส่วนโรคไส้ติ่งอักเสบ โรคถุงตันที่ลำไส้ใหญ่อักเสบ1
ฟันเรียงผิดรูป ฟันผุ เส้นเลือดขอด กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือริดสีดวงทวารก็ไม่มีให้พบเลย
คุณหมอชาวอังกฤษชื่อเดนิส เบอร์กิตต์ที่ทำงานอยู่ในแอฟริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเสนอ ให้เราเรียกโรคเหล่านี้ว่า โรคตะวันตก
ครั้นมีการตั้งชื่อหมวดหมู่ให้แบบนี้ เหล่านักวิจัยเลยพร้อมใจกันมองโรคเหล่านี้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกันและเกิดจากสาเหตุเดียวกัน
นักวิจัยหลายท่าน ยังได้อยู่เห็นโรคตะวันตกเดินทางมาเยือน กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร เหล่านี้ด้วย
โดยอัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์เขียนไว้ว่า
กลุ่มคนที่มักเจอโรคตะวันตก มาเยือนมักเป็น “ชนพื้นเมืองที่กินอยู่เยี่ยงคนขาวมากขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนนักวิจัยบางท่าน ก็บันทึกว่า โรคตะวันตก มักตามติดอาหารตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกแป้งแปรรูป น้ำตาล
และอาหารที่ “จำหน่ายตามร้าน” ทั้งยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า พอโรคตะวันตกโรคหนึ่งเผยโฉม โรคอื่นก็มักโผล่ตามกันมาเป็นลำดับ
เริ่มจากโรคอ้วนก่อน ตามด้วยเบาหวานชนิด 2 ต่อด้วยโรคความดันโลหิตสูง กับโรคสมองขาดเลือด แล้วจึงเป็นโรคหัวใจ
เหตุนี้ ช่วงก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 หลายคน ในแวดวงแพทย์จึงเริ่มคุยอย่างออกรสว่า
การที่โรคตะวันตก มีให้เห็นหนาตานี้ น่าจะบ่งชี้ว่า วิถีชีวิตที่ผูกพันกับอุตสาหกรรมมากขึ้น จะต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ
ต่างเชื่อเป็นจริงเป็นจังว่า อาหารยุคใหม่ น่าจะมีปัจจัยอะไรบางอย่าง ที่ร่างกายคนพื้นเมืองปรับตามได้ไม่ดี
เพียงแต่ ยังเห็นพ้องต้องกันไม่ได้เท่านั้น ว่า ปัจจัยที่ว่าคืออะไร
เบอร์กิตต์เชื่อว่า ตัวการคือไฟเบอร์ที่มีอยู่น้อยมาก ในอาหารยุคใหม่
แมคคาร์ริสัน หมอประจำกองทัพอังกฤษ พุ่งประเด็นไปยังคาร์โบไฮเดรตแปรรูป
หมอท่านอื่นโทษเนื้อสัตว์และไขมันอิ่มตัว
ขณะที่ไพรซ์หมอฟันก็โทษอาหารแปรรูปและพืชที่ปลูกโดยกระบวนการอุตสาหกรรมที่มักขาดวิตามินและแร่ธาตุ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะยอมซื้อ แนวคิดที่ว่าโรคเรื้อรัง เป็นผลข้างเคียงจากการดำเนินชีวิตแบบตะวันตก
หรือซื้อแนวคิดที่ว่า การแปลงกระบวนการผลิตอาหาร ให้อยู่ในรูปอุตสาหกรรมนั้น มีผลเสียต่อสุขภาพหรอกนะครับ
เหตุผลที่หลายคน ยกมาค้าน คือ เรื่องของพันธุกรรมที่ว่าคนต่างชาติ ต่างภาษา มักมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ได้ต่างกัน
เป็นต้นว่า คนผิวขาวมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดง่ายกว่า
คนผิวน้ำตาลมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนง่ายกว่า
แต่เบอร์กิตต์และคนอื่น ก็แย้งกลับว่า คนดำที่มาอยู่อเมริกาก็เป็นโรคเดียวกับคนขาวที่อยู่ที่เดียวกัน
ส่วนคนชาติอื่น ที่ย้ายจากประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคเรื้อรังต่ำมาอยู่อเมริกา ก็เป็นโรค ที่คนอเมริกันเป็นในเวลาอันรวดเร็วเหมือนกัน
อีกเหตุผล ที่หลายคนยกมาค้านและคุณอาจได้ยินมาบ้าง ก็คือเหตุผลทางประชากรศาสตร์ที่ว่า
การที่เราเห็นคนตะวันตก เป็นโรคเรื้อรังกันเยอะนั้น เป็นเพราะโรคเหล่านี้ เกิดในช่วงบั้นปลายชีวิต กล่าวคือ
พอโรคติดเชื้อหลายชนิดได้ถูกกำราบจนสิ้นซากไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เราเลยมีอายุยืนจนเป็นโรคเหล่านี้ ง่ายขึ้นนั่นเอง
(หากมองแบบนี้ก็หมายความว่า การมีอายุยืนจะต้องแลกมาด้วยการเป็นโรคเรื้อรัง)
กระนั้นก็ดี ถึงแม้นับแต่ปี 1900 อายุขัย ของทุกคนจะดีขึ้น ผิดหูผิดตาจาก 49 ปี มาเป็น 77 ปีในสหรัฐ
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น น่าจะเกิดจากการที่เราอยู่รอดปลอดภัย จากการเจ็บไข้ได้ป่วย ช่วงวัยทารกและวัยเด็กมากกว่า
เพราะคนอายุ 65 ใน ปี 1900 มีอายุสั้นกว่าคนอายุ 65 สมัยนี้ แค่ 6 ปีเอง2
ยิ่งหากคุณแบ่งอัตราการเกิดโรค ตามช่วงอายุและเอาตัวเลข ของทั้งสองยุค มาเปรียบเทียบกันแล้ว คุณจะเห็นเลยว่าอัตราการเกิดโรคเรื้อรัง
เช่น โรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานชนิด 2 ในสมัยนี้สูงกว่าสมัยปี 1900 มาก กล่าวคือ คนวัย 60 หรือ 70
สมัยเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเบาหวานชนิด 2 มากกว่าคน เมื่อ 100 ปีก่อนหลายเท่า (โรคหัวใจก็น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน)
ความที่เราได้รับเอาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคตะวันตกอื่นๆ มา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตยุคใหม่ โดยดุษณีไปแล้ว
เราจึงเชื่อไม่ลงว่า มันไมได้เป็นเช่นนี้ตลอดมา และไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้เลยด้วย
เดี๋ยวนี้หลายคนมองโรคเรื้อรัง เป็นเหมือนสภาพอากาศ ที่ต้องเจอและเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเกิดมาเป็นคน
ทางออกก็คือ อาหารของชาติ ตรงข้ามนั่นคือ อาหารตะวันออกนั่นเอง
1ผนังลำไส้ใหญ่เมื่อเจอแรงดันจากภายในมากๆ เช่นจากกากอาหารแข็งๆ จะสูญเสียความแข็งแรง ส่งผลให้มีการยื่นทะลักของผนังออกมาเป็นถุงตัน (diverticula) ซึ่งเมื่อมีการอุดตัน ก็จะเกิดการอักเสบตามมา-ผู้แปล
2โรคเรื้อรังที่ระเบิดเถิดเทิงอย่างหนัก ในช่วงศตวรรษที่ 20 อาจมีผลต่ออายุขัยคนอเมริกันโดยตรง
โดยในปี 2007 CIA World Factbook ได้จัดลำดับพยากรณ์ชีพแต่กำเนิดของประเทศสหรัฐให้อยู่ในลำดับที่ 45
ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอิสราเอล จอร์แดน บอสเนีย และเบอร์มิวด้าอีก หากเราต้องการให้คนของเรามีอายุขัยเพิ่มขึ้น เราคงจะต้องคิดหาวิธียืดอายุคนเฒ่าคนเเก่ให้ได้
ซึ่งถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ในเมื่ออุบัติการณ์โรคเบาหวานในคนอายุ 75 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มสูงถึง 336 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษใหม่นี้
Cr. แถลงการณ์นักกิน