รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeสารอาหารบำบัดโรค Nutrition

อัญมณีสุขภาพจากใต้น้ำ

การเก็บเกี่ยวพืชจากท้องทะเล มาบริโภคอาจเป็นกระแสแห่งอนาคต แต่มนุษย์เราเพลิดเพลินกับการบริโภคสาหร่ายทะเลพันธุ์ต่างๆ มาช้านาน ก่อนจะมีการพัฒนาเกษตรกรรม

หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่ามีการบริโภคสาหร่ายทะเลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานานกว่า 10,000 ปี

ในวัฒนธรรมจีนโบราณ สาหร่ายทะเลเป็นอาหารพิเศษที่ขึ้นชื่อ คู่ควรกับอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติและเชื้อพระวงศ์เท่านั้น

สาหร่ายทะเลคุณภาพสูง ที่ผ่านการปรุงอย่างเหมาะสม จะมีรสชาติถูกปากและเป็นแหล่งของคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มเปี่ยม

นอกจากคุณค่าทางโภชนาการที่น่าประทับใจ อัญมณีจากเทพเจ้าแห่งท้องทะเลเหล่านี้ ยังมอบคุณประโยชน์อื่นๆ ต่อสุขภาพ

วงการแพทย์เอเชียยอมรับกันมานานหลายศตวรรษแล้วว่า การบริโภคสาหร่ายทะเล ช่วยให้สุขภาพดี

ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยด้านการแพทย์ค้นพบว่า อาหารที่มีสาหร่ายทะเลรวมอยู่ด้วย ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิดและช่วยร่างกายกำจัดสารพิษอันตราย

จริงๆ แล้วข้อมูลจากแบบสำรวจเปิดเผยให้เห็นว่าผู้ที่กินอาหารที่มีสาหร่ายทะเลรวมอยู่ด้วยเป็นประจำ อย่างเช่นชาวญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพดี

สุขภาพและสุขภาวะ

สาหร่ายทะเล ไร้ไขมันอย่างแท้จริง แคลอรี่ต่ำ และอุดมไปด้วยแร่ธาตุ วิตามิน โปรตีน ที่จำเป็นต่อร่างกาย และธาตุอาหารรองสำคัญ ที่ไม่มีอยู่ในพืชผักบนดินเนื่องจาก การขาดเเร่ธาตุในดิน

ดร.เซบินและเทรูโกะ อาราซากิ ผู้แต่งหนังสือ vegetables from the Sea (Japan Publications, 1981) ระบุว่า “สาหร่ายทะเลมีแร่ธาตุมากกว่าอาหารชนิดอื่น”

ผลวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าสาหร่ายทะเล มีแร่ธาตุนานาชนิด ตั้งแต่ 7% ถึง 38% ของน้ำหนักที่ชั่ง เมื่อตากแห้งแล้ว 

ธาตุอาหารทั้งหมดที่จำเป็นต่อสุขภาพ รวมถึงแคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ไอโอดีน เหล็ก และสังกะสี มีอยู่ในสาหร่ายทะเล เป็นปริมาณที่มากพอ

ในบรรดาแร่ธาตุหลากหลายเหล่านั้น แคลเซียม เหล็ก และไอโอดีน มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้บริโภคอาหารมัสวิรัติ มังสวิรัติแบบเข้มงวด หรือแมคโครไบโอติก ที่เน้นธัญพืชเป็นหลักโดยไม่บริโภค ผลิตภัณฑ์นม

ตัวอย่างเช่น สาหร่ายฮิจิกิที่ปรุงสุก ¼ ถ้วย (4 ช้อนโต๊ะ) มีแคลเซียมเกินครึ่งของที่พบในนม 1 ถ้วย (250 มล.) และมีธาตุเหล็กมากกว่าในไข่ 1 ฟอง

ถึงแม้โดยธรรมชาติไอโอดีนจะระเหยได้ง่ายและยากที่จะได้รับ แต่สาหร่ายทะเลมีน้ำตาลธรรมชาติเชิงซ้อนที่ช่วยคงสภาพไอโอดีน ทำให้เป็นแหล่งชั้นยอดของแร่ธาตุที่จำเป็นชนิดนี้

พืชจากทะเลที่กินได้ ยังมีวิตามินสำคัญ ทั้งวิตามินเอ (ในรูปของเบต้า-แคโรทีน) วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 ไนอาชิน วิตามินซี กรดแพนโทเธนิ และกรดโฟลิก ผลวิเคราะห์พบวิตามินบี 12 ในปริมาณที่ตรวจวัดได้ ซึ่งไม่เคยพบในพืชบนดิน

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition บ่งชี้ว่า แม่ลูกอ่อนที่กินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งมีระดับวิตามินบี 12 ต่ำ จะได้สารอาหารนี้จากแหล่งที่ยอมรับได้

โดยการบริโภคสาหร่ายทะเลที่มีวิตามินบี 12 สูงตามธรรมชาติ ผลการวิจัยระบุว่าปริมาณวิตามินบี 12 ที่ค่อนข้างสูงของสาหร่ายทะเลบางชนิด น่าจะแสดงให้เห็นว่าพืชเหล่านี้มีจุลินทรีย์ที่ผลิตวิตามินบี 12 อยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับผู้ที่ระวังเรื่องน้ำหนักตัว สาหร่ายทะเลเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุด คาร์โบไฮเดรตจากสาหร่าย จะผ่านระบบย่อยอาหารในรูปเส้นใยเชิงซ้อน ช่วยทำความสะอาดลำไส้ แต่ไม่เพิ่มแคลอรี่ให้อาหาร

ยาจากท้องทะเล

ไม่เพียงแต่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สาหร่ายทะเลยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย

การแพทย์แถบเอเชีย รับรู้มานานแล้วว่า สาหร่ายทะเลมีผลดีต่อร่างกายโดยรวม โดยเฉพาะสุขภาพของระบบต่อมไรท่อและระบบประสาท ในขณะที่ช่วยร่างกายกำจัดสารพิษอันตรายจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

เป็นเวลาหลายพันปี ที่แพทย์สมุนไพรและนักเภสัช วิทยาทั่วโลก ทดสอบและทดลองกับพืชที่ออกฤทธิ์เชิงยา ยาสมัยใหม่หลายชนิด ได้มาจากสารสกัดจากพืช หรือไม่ก็เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารที่เดิมทีได้มาจากพืช

แม้จะมีธรรมเนียมยาวนานในการใช้สาหร่ายทะเล เป็นยาในญี่ปุ่นและจีน แต่การแพทย์ยุคใหม่ก็มักถือว่า วิธีรักษาโรคเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล่าพื้นบ้าน

การบำบัดรักษาทางการแพทย์ระยะหลัง ซึ่งใช้สาหร่ายทะเล น้ำทะเล และโคลนจากมหาสมุทร เช่น การบำบัดด้วยน้ำทะเล การบำบัดด้วยสารจากพืชพรรณธรรมชาติ

ส่วนใหญ่เป็นการใช้กับภายนอกมากกว่าเป็นยารักษาภายใน ผู้สนับสนุนระบุว่า การบำบัดเหล่านี้ ช่วยลดหรือรักษาอาการของโรคความดันโลหิตสูง ไขข้ออักเสบเรื้อรัง โรคเกาต์ โรคปวดเส้นประสาท โรคหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบ และแม้แต่โรคริดสีดวงทวาร

ความสนใจคุณค่าด้านการรักษาโรคของสาหร่ายทะเล ยุคปัจจุบัน เริ่มขึ้นในปี 1927 เมื่อศาสตราจารย์ เอส. กอนโด แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุในเซนได ประเทศญี่ปุ่น

พบว่าชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่บริโภคสาหร่ายทะเลจำนวนมาก เป็นประจำ เป็นผู้ที่อายุยืนเป็นพิเศษ เช่น

ผู้คนบนเกาะโอกิ ในจังหวัดชิมาเนะ ที่กินสาหร่ายทะเลอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นกลุ่มคนที่มีช่วงชีวิตยืนยาวที่สุดในประเทศ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเห็นหญิงชราชาวเกาะโอกิวัยกว่า 70 ปี ลงดำน้ำเพื่อหาหอยเป๋าฮื้อและสาหร่ายแดง

หลังจากงานวิจัยภาคสนามของกอนโด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เรียนรู้ว่า

นอกจากสาหร่ายทะเลจะช่วยบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านเนื้องอก และพบด้วยว่า สาหร่ายทะเลช่วยลดความดันเลือดและระดับไขมันรวมในเลือด

ผลการวิจัยชิ้นนี้ ทำให้มีการพัฒนายาใหม่ 2-3 ชนิด จากสารสกัดจากสาหร่ายทะเล

มะเร็ง อาหารที่อุดมไปด้วยสาหร่ายทะเล มีผลเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งลำไส้เเละทวารหนัก

ระหว่างการศึกษาวิจัยในจังหวัดไซตามะ มีการเฝ้าสังเกตอาหารการกินในแต่ละวันของคน 700 คนอย่างใกล้ชิด นักวิจัยพบว่ายิ่งกินสาหร่ายทะเลมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนักน้อยลงเท่านั้น

เชื่อกันด้วยว่า สาหร่ายทะเลช่วยยับยั้งมะเร็งเต้านม ในญี่ปุ่นผลทดสอบในห้องทดลอง แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มสาหร่ายทะเลในอาหาร มีผลยับยั้งสำคัญต่อการเติบโตของเนื้องอกที่เต้านม การก่อตัวของเนื้องอกชะลอตัวลง และเนื้องอกมีขนาดเล็กลงด้วย

การศึกษาวิจัยในสัตว์ที่ญี่ปุ่นพบหลักฐานว่า การบริโภคสาหร่ายทะเล ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย ที่เกิดจากสิ่งปลูกฝังในร่างกายได้ 89-95 เปอร์เซ็นต์

นักวิจัยระบุว่ากว่าครึ่งหนึ่งของสัตว์ที่ศึกษาฟื้นตัว สู่สภาพเดิม รายงานยังแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่มีศักยภาพต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย

แม้นักวิจัยทางการแพทย์ ไม่สามารถระบุเจาะจงว่าสารชนิดใดในสาหร่ายทะเลที่ก่อให้เกิดคุณสมบัติต้านมะเร็ง อันน่าประทับใจ

แต่เจนทีส์ ดุษฎีบัณฑิตแห่งโรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์เสนอว่า

ลิกแนนอาจมีบทบาทสำคัญด้านฮอร์โมน ลิกแนนจะกลายเป็นไฟโตเอสโตรเจนในร่างกาย และส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยทองที่หมดระดูแล้ว

จึงอาจมีบทบาทในการบำบัด และป้องกันมะเร็ง ที่ระดับเอสโตรเจนมีอิทธิพลสำคัญ ลิกแนนยังขึ้นชื่อว่า ช่วยลดการส่งเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกที่เติบโตรวดเร็ว จึงลดความสามารถในการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย

และยังส่งผลดีต่ออาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ ฟูคอยแดน คาร์โบไฮเดรตละลายน้ำได้ ที่อัดแน่นอยู่ในสาหร่ายทะเล เป็นสารอีกชนิดหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะมีผลอย่างมากในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และลดการอักเสบเนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย

ไอโอดีนและเซเลเนียมระดับสูง ที่พบในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล เช่น สาหร่ายวากาเมะและสาหร่ายคอมบุ สามารถลดขนาดเนื้องอกที่เต้านมได้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไอโอดีนและเซเลเนียมจะรวมตัวกับกรดไขมันบางชนิดเพื่อยับยั้งการเติบโตของมะเร็งบางอย่าง

ฮอร์โมนไทรอยด์ สาหร่ายทะเลเป็นแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดของไอโอดีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์

อย่างไทร็อกซีนและไทรไอโอโดไทโรนีน ฮอรโมนเหล่านี้ ช่วยควบคุมระบบเผาผลาญในทุกเซลล์ของร่างกาย

การขาดธาตุไอโอดีนจึงสามารถส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอาหารยุคใหม่และกระบวนการแปรรูปอาหารที่แพร่หลาย

จึงมีการประเมินว่าผู้คนทั่วโลก กว่า 200 ล้านคน มีปัญหาต่อมไทรอยด์ เช่น โรคคอพอก แต่คาดว่า 4% เกิดจากการขาดไอโอดีน

สมาคมไทรอยต์แห่งอเมริกาเตือนเรื่อง การบริโภคไอโอดีนมากเกินไป จึงควรใช้พอประมาณ ถ้ากินยารักษาโรคไทรอยด์อยู่แล้ว ควรคุยกับแพทย์ก่อนกินสาหร่ายทะเลปริมาณมาก

โรคหัวใจและหลอดเลือด กรดโฟลิกซึ่งมีมากมายในสาหร่ายทะเล มีบทบาทสำคัญในการป้องกัน รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยทำลายสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่นโฮโมซิสเตอีน ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเผาผลาญตามปกติ

โฮโมซิสเตอีนทำอันตรายต่อผนังหลอดเลือดได้โดยตรง จึงเพิ่มความเสี่ยงให้โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย สืบเนื่องจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงมีการพัฒนายาชนิดใหม่จำนวนหนึ่งจากผลผลิตใต้น้ำ เช่น ลามินิน สําหรับลดความดันเลือด

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น นำเสนอผลการศึกษาวิจัย ด้วยสัตว์ในการประชุมประจำปีของสมาคมเคมีแห่งอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน ปี 2006 ที่ซานฟรานซิสโก เผยให้เห็นว่าสีน้ำตาลในสาหร่ายทะเลวากาเมะ ซึ่งเป็นสาหร่ายเคลป์ชนิดหนึ่ง

ช่วยกระตุ้นตับของสัตว์ให้ปล่อยกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งลดคอเลสเตอรอลที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (การที่ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นและแข็งตัว)

สิ่งล้างพิษประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตาม การค้นพบสำคัญที่สุดเกี่ยวกับสาหร่ายทะเล เพื่อการใช้ชีวิตสมัยใหม่ คือความสามารถในการล้างพิษออกจากร่างกาย

การชำระล้างที่มีประสิทธิภาพสูงนี้ เกี่ยวข้องกับสารที่เรียกว่ากรดแอลจินิก ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรต ห่วงโซ่ใหญ่ที่มีอยู่มากมายในสาหร่ายทะเล จำพวกสาหร่ายสีน้ำตาล ทั้งสาหร่ายคอมบุฮิจิกิ อาราเมะ และวากาเมะ

นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์หลายราย รวมถึงทีม ที่นำโดย ดร.ยูกิโอะ ทานากะ ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม็คกิล สาธิตให้เห็นว่ากรดแอลจินิก ไปเกาะตัวกับโลหะหนักที่พบในลำไส้ ทำให้ย่อยไม่ได้และถูกกำจัดออกจากร่างกาย

ดังนั้น เมื่อมีกรดแอลจินิก ร่างกายจะไม่ดูดซึมโลหะหนักใดๆ ก็ตาม เช่น แบเรียม แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท สังกะสี และแม้แต่สารกัมมันตรังสีสตรอนเทียมที่อาจมีอยู่ในลำไส้

ดร.เซบิน และ ดร.เทรูโกะ อาราซากิ สองนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่กล่าวถึงไว้ก่อนหน้า ยังรายงานถึงคุณสมบัติด้านการชำระล้างของกรดแอลจินิก ไว้ในหนังสือ Vegetables from the Sea โดยพวกเขาสรุปว่า

“โลหะหนักที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะไม่ละลายน้ำเมื่อเจอกรดแอลจินิกในลำไสั ดังนั้นจึงไม่อาจดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อของร่างกาย”

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ทานากะค้นพบว่ากรดแอลจินิกในสาหร่ายทะเลช่วยจับและดึงสารพิษคล้ายๆ กันที่สะสมอยู่ในร่างกายออกไป ฉะนั้น จึง”ลดภาระของร่างกาย”

ในไม่ช้า คุณสมบัติตามธรรมชาติของสาหร่ายสีน้ำตาลในการจับโลหะหนักมีพิษอาจถูกภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ การวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า

การบำบัดน้ำทิ้งที่มีโลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยสาหร่ายสีน้ำตาลเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและประหยัดในการกำจัดพิษของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ขั้นตอนที่เรียกว่า”การดูดซึมมวลชีวภาพแบบชีวภาพ” มีประสิทธิภาพเป็นพิเศษสำหรับตะกั่วและแคดเมียม

คุณสมบัติด้านการต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ การศึกษาวิจัยช่วงต้นทศวรรษ 1960 ดูเหมือนจะยืนยันความเชื่อดังเดิมที่ว่า สาหร่ายทะเลมีผลต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ยิ่งไปกว่านั้น

สารสกัดสาหร่ายทะเลแสดงให้เห็นในหลอดทดลองว่าเป็นยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพต่อแบคทีเรียทั่วไปที่ทำให้อาหารเป็นพิษ สาหร่ายทะเลยังแสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง การเติบโตของเชื้อไวรัสเริมในหลอดทดลองด้วย

สารคลายเครียด อาหารที่อุดมไปด้วยสาหร่ายทะเล สามารถผ่อนคลายความเครียด และความวิตกกังวลที่เกิดจากวัฒนธรรมที่เร่งรีบ และความกดดันสูงในยุคปัจจุบัน

เพราะมีกรดแพนโทเธนิกสูง สาหร่ายทะเล จึงช่วยเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งจะเสื่อมสภาพระหว่าง ช่วงความเครียดยาวนาน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว อ่อนล้าเรื้อรังและภูมิต้านทานต่ออาการแพ้และการติดเชื้อลดลง

แมกนีเซียมและไรโบฟลาวินเป็นสารลดความเครียดและกระตุ้นการผ่อนคลายอีก 2 ชนิดที่พบในสาหร่ายทะเล

ประโยชน์ด้านสุขภาพอื่นๆ ของสาหร่ายทะเล เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยนำโดยคาซูโอะ มิยาชิตะ ดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโดในญี่ปุ่นตอนเหนือ

ได้ศึกษาค้นคว้าประโยชน์ด้านโภชนาการของสาหร่ายวากาเมะ ซึ่งเป็นสาหร่ายทะเลที่นิยมใส่ในซุปมิโซะ

พวกเขาพบว่าฟิวโคแซนทิน รงควัตถุในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ทำให้ไขมันหน้าท้องของหนูทดลองบางตัวลดลง 10%

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการศึกษาวิจัยนี้กระทำกับสัตว์และต้องมีการวิจัยซ้ำกับมนุษย์ แต่มีความหวังว่ากระบวนการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นเพราะรงควัตถุสีน้ำตาล อาจมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคอ้วนทั่วโลก

Cr. มหัศจรรย์อาหารญี่ปุ่น