รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

ความคิดเปลี่ยนไปเมื่อได้ท่องอวกาศ

จริงหรือไม่ที่ว่าการได้ออกไปท่องอวกาศจะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคุณตลอดไป?

จนถึงวันนี้ ผู้โชคดีที่มีประสบการณ์ที่เรียกกันว่า “โอเวอร์วิว อีเฟกต์-overview effect” มีไม่กี่คน

สำหรับปู่ ย่า ตา ยาย ของเราแล้ว คงไม่มีโอกาส แต่สำหรับลูกหลานเราอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดา เวลาและเทคโนโลยีเท่านั้น ที่จะบอกได้

นักบินอวกาศ ยืนยันอยู่เสมอว่า การท่องอากาศ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อชีวิตพวกเขามากที่เดียว

นี่คือ “โอเวอร์วิว อีเฟกต์” พวกเขาบอกว่า ขณะอยู่ในยานอวกาศ แล้วมองลงมาที่โลกใบเล็กของเรา

เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีอะไรเหมือน ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในส่วนลึกทั้งด้านอารมณ์เเละสติปัญญา

ซึ่งจะทําให้คนคนนั้นไม่เหมือนคนเดิมอีกต่อไป การเห็นโลกจากตำแหน่ง ที่ไม่เหมือนใครนี้

นำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆ อย่างลึกซึ้ง ได้แก่ เข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในทุกๆ อย่าง และสถานภาพของตนเองในจักรวาล

ตัวอย่างของโอเวอร์วิว อีเฟกต์ ได้แก่กรณีของเอ็ดการ์ มิตเชลล์ (Edgar Mitchell) กับรัสเซลล์ ชไวคาร์ท (Russell Schweickart)

เอ็ดการ์ มิตเชลล์ ซึ่งเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ กับยานอะพอลโล่ 14 ในปี ค.ศ. 1971 เขียนว่า

“เมื่อ 18 ปีก่อน ผมได้พบประสบการณ์พิเศษสุด ที่เปลี่ยนชีวิตผม หลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจพื้นผิวที่แห้งแล้งและไม่มีอากาศบนดวงจันทร์

ผมก็ออกเดินทางกลับบ้านสู่โลกเรา เมื่อมองลงมา เห็นดาวเคราะห์ที่อุดมสมบูรณ์และสว่างไสวดวงนี้

ก็รู้เลยว่าโลกของเราและทุกชีวิตในโลกไม่ใช่แค่ความบังเอิญ

ผมได้ประจักษ์ถึงเชาว์ปัญญา ความรัก และธรรมชาติที่สอดประสานกันของจักรวาลนี้1

รัสเซลล์ ชไวคาร์ท แสดงความรู้สึกแตกต่างออกไป

ปี ค.ศ. 1969 มนุษย์อวกาศชไวคาร์ท ขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยยานอะพอลโล่ 9

เขาเล่าประสบการณ์ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ว่า ขณะกำลังโคจรรอบโลก เขาได้พบกับ “สิ่งที่มีความหมายยิ่ง” เป็นครั้งแรก

“คุณรับรู้ว่า คุณเป็นเพียงอณูหนึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล คุณออกไปที่นั่น ไกลลิบ จะด้วยวิธีใดก็ตาม คุณต้องกลับมาให้ได้

นั่นกลายเป็นความรับผิดชอบของคุณ

โดยเฉพาะ มันบอกคุณบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคุณ กับสิ่งนี้ที่เราเรียกว่าชีวิต

บางอย่างที่ใหม่สำหรับคุณ นั่นคือความเปลี่ยนแปลง

เมื่อคุณกลับมา โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับดาวเคราะห์ดวงนี้

และระหว่างคุณกับทุกรูปแบบชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้แตกต่างจากเดิม…”2

โอเวอร์วิว อีเฟกต์ส่งผลกระทบต่อมิตเชลล์และชไวคาร์ทอย่างใหญ่หลวง

หลังจากที่พวกเขาออกจากโครงการอวกาศก็อุทิศชีวิตให้กับการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับการสำรวจของมนุษย์

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 มิตเชลล์ก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิต (The Institute of Noetic Sciences) ในเมืองซอซาลิโท รัฐแคลิฟอร์เนีย

สถาบันแห่งนี้ทำการวิจัย รวมทั้งให้ทุนวิจัยศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและศักยภาพของจิตมนุษย์

และออกวารสาร Noetic Sciences Review, Noetic Sciences Bulletin และสิ่งพิมพ์อื่นเพื่อรายงานสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย

ส่วนชไวคาร์ทก่อตั้งสมาคมนักสำรวจอวกาศ (Association of Space Explorers)

รับผู้ที่เคยไปท่องอวกาศมาแล้ว เป็นสมาชิกโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ

วัตถุประสงค์ก็เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโอเวอร์วิว อีเฟกต์

และอุทิศเวลาให้กับการสนับสนุนความเป็นเอกภาพและความร่วมมือของมนุษย์

สมาชิกของสมาคมมีทั้งสิ้น 40 คนจาก 16 ประเทศ บางคนมาจากสหภาพโซเวียต

แฟรงก์ ไวต์ (Frank White) นักวิจัยแห่งสถาบันการศึกษาอวกาศในเมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซี่

กล่าวว่า โอเวอร์วิว อีเฟกต์ อาจเกิดขึ้นเมื่อนักบินอวกาศ ต้องเผชิญและรับมือกับปัจจัยแห่งความเป็นจริงในการบินสู่อวกาศ

ซึ่งรวมถึง รู้สึกเสี่ยงและกลัวตายตลอดเวลา ภาวะไร้น้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงเรื่องเวลา ระยะทางที่ห่างไกลโลกและการรับรู้ ความโดดเดี่ยว และบรรยากาศอันเงียบสงัดของอากาศ

ที่เรียกได้ว่าเงียบอย่างน่ากลัว เมื่อรวมปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกันจะส่งผลต่อนักบินอวกาศในรูปแบบแปลกๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

แต่ก็แปลก นักบินอวกาศส่วนใหญ่ที่เป็นทหารในตำแหน่งสูง ผู้มีภูมิหลังพื้นๆ ผู้ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยสนใจปรัชญา

เมื่อกลับจากการท่องอากาศ ไม่เพียงเป็นนักสำรวจเท่านั้น แต่กลายเป็นนักปรัชญาอีกด้วย

ไวต์เชื่อว่าอีกไม่นาน ซึ่งเขาคาดว่าภายในศตวรรษหน้า

หากคนเสี่ยงขึ้นสู่อวกาศมากขึ้น มีประสบการณ์โอเวอร์วิวอีเฟกต์มากขึ้น และกลายเป็นปัจเจกชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

เส้นทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ และมนุษยชาติจะเปลี่ยนไป

เขาเขียนไว้ว่า “การเข้าสู่ระบบสุริยะและไกลออกไปของมนุษย์ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

เป็นวิวัฒนาการที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เราจะได้เห็นความเป็นเอกภาพ และรักใคร่ กลมเกลียวของมนุษย์ เราจะมองหาลักษณะร่วมของมวลมนุษยชาติ

ตระหนักถึงความไร้สติและเหตุผลของการทำสงคราม เข้าใจลึกซึ้งถึงความเป็นมนุษย์ที่ดีพร้อม3

ขณะที่โลกยังคงสร้างอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง และความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วไป

แนวคิดของชไวคาร์ทจึงให้ข้อคิดเป็นอย่างดี ” เมื่อคุณมองลงไปที่นั่น

ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า มีชายแดนที่คุณมองไม่เห็น ที่คุณต้องข้ามมากมายแค่ไหน

คนหลายร้อยในตะวันออกกลางกำลังฆ่าฟันกัน เหนือเส้นสมมุติ ที่คุณไม่เคยรู้ว่ามีและมองไม่เห็น

จากข้างบนนั้นโลกดูสมบูรณ์และงดงามเหลือเกิน มันสวยเสียจนอยากจับฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้ นด้วยมือข้างละฝ่าย

แล้วบอกว่า “ดูนั่น มองจากมุมนี้แล้ว อะไรล่ะที่มีความสำคัญ?”


1 Mitchell, E., Institute of Noetic Sciences, Sausalito, California, Institute of Noetic Sciences, 1989.

2 Schweickart, R., Earth’s Answer, New York, Harper & Row, 1977, pp.2, 3.

3 White, F., The Overview Effect: Space Exploration and Human Evolution, New York, Houghton Mifflin, 1987, pp3 iii, iv.

Cr.มหัศจรรย์แห่งร่างกาย