“ขนมขบเคี้ยว” เสี่ยงโรคไต และโรคต่างๆ
แพทย์หลายท่าน ออกมาเตือนเกี่ยวกับการทาน “ขนมขบเคี้ยว” ของเด็ก
เนื่องจาก มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง
หากเด็กรับประทานเป็นจำนวนมาก จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในอนาคต เช่น
ส่งผลโรคไต ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา
ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า
หากเด็กๆ รับประทานขนมหรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป
จะทำให้ไตทำงานหนัก จนเกิดอาการเสื่อม เนื่องจากเลือดเสียสมดุล
ผู้ปกครองควรลดการบริโภคโซเดียม โดยการหลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ
หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม และอาหารแปรรูปที่โซเดียมสูง
เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง
อีกทั้งควรอ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกอาหารต่างๆ
เลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ เลือกทานผักผลไม้เป็นประจำ
และดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ
หากพ่อแม่ผู้ปกครองปลูกฝัง พฤติกรรมการกิน ที่เหมาะสม ให้ลูกหลานตั้งแต่เด็ก
ลดหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้ จะส่งผลดีต่อสุขภาพของในครอบครัว
เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น
จะมีผลต่อรูปแบบการทานอาหารไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า
องค์การอนามัยโลก แนะนำให้บริโภคเกลือ ต่อวันไม่เกิน 1 ช้อนชา
คือ 5 กรัม หรือเทียบเท่าปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
จากการศึกษาของข้อมูลจากศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
ปริมาณโซเดียมในอาหารต่างๆ พบว่า
น้ำปลา 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 1,300 มิลลิกรัม
ซุปก้อน 10 กรัม(1 ก้อน) มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,760 มิลลิกรัม
ซอส 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 340 มิลลิกรัม
น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 385 มิลลิกรัม
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ มีโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม
โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีโซเดียม 1,120 มิลลิกรัม
มันฝรั่งทอดแผ่น 1 ห่อ (30กรัม) มีโซเดียม 170 มิลลิกรัม
เฟรนช์ฟราย 60 กรัม มีโซเดียม 220 มิลลิกรัม
ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆที่เด็กชื่นชอบ พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูงเช่นกัน