น้ำมันรำข้าวลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
มีรายงานการศึกษามากมายถึงผลของน้ำมันรำข้าวในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ เพราะรำข้าวมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ
1. รำข้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวน้อย
กรดไขมันอิ่มตัวทุกตัวยกเว้นกรดไขมันสเตียริก เป็นกรดไขมันที่เพิ่ม LDL-C ในเลือด ตับมีหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นตัวรับ LDL เก็บไว้ที่ผนังเซลล์ตับ และทำหน้าที่จับ LDL จากเลือดเพื่อเข้าเซลล์
เมื่อเข้าเซลล์ตับ คอเลสเตอรอลใน LDL จะถูกปล่อยเป็นคอเลสเตอรอลอิสระ นำไปใช้ในการสังเคราะห์สารต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น น้ำดี
แต่ถ้าในตับมีกรดไขมันอิ่มตัวมาก จะมีผลทำให้คอเลสเตอรอลอิสระไม่สามารถทำปฎิกิริยาเป็นเอสเตอร์
ในการสังเคราะห์สารประกอบที่จำเป็นได้ทำให้คอเลสเตอรอลอิสระมีมาก เมื่อคอเลสเตอรอลอิสระมีมากเกินพอ ตับจะไม่สังเคราะห์โปรตีนตัวรับ LDL ทำให้ LDL ในเลือดเข้าเซลล์ตับไม่ได้ ในเลือดจึงมี LDL-C สูง
2. รำข้าวมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน PUFA ไม่มาก
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนเป็นกรดไขมันที่มีแขนคู่มากกว่า 1 ตำแหน่ง ในภาวะที่มีออกซิเจน ตำแหน่งแขนคู่จะถูกออกซิไดส์
ถ้ากรดไขมันมีตำแหน่งคู่มากหลายตำแหน่ง ก็จะถูกออกซิไดส์ได้ง่ายขึ้น การกินอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนในปริมาณที่น้อย จะทำให้ LDL ในเลือดมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนปริมาณไม่มาก ซึ่งถูกออกซิไดส์เป็น Oxidised LDL ได้ยากกว่า และลดการเกิดหลอดเลือดแข็ง
3. รำข้าวมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว MUFA ปริมาณมาก
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เป็นกรดไขมันที่มีแขนคู่เพียง 1 ตำแหน่ง มีโอกาสถูกออกซิไดส์ได้น้อยกว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
หากได้รับไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ในสัดส่วนที่มากกว่าเชิงซ้อนจะเกิด Oxidised LDL น้อย ซึ่งลดการเกิดหลอดเลือดแข็ง
4. รำข้าวมีสารกันการออกซิไดส์หลายชนิด ได้แก่ วิตามินอี (โทโคเฟอรอลและโทโคไตรอีนอล) และโอรีไซนอล
สารประกอบทั้ง 3 ชนิดนี้จะลดการเกิด Oxidised LDL ลดการเกิดหลอดเลือดแข็ง และลดการเกิดคอเลสเตอรอลออกไซด์
ร่างกายจะรับคอเลสเตอรอลออกไซด์จากอาหารเท่านั้น ไม่มีการเกิดในร่างกาย คอเลสเตอรอลในอาหารจะเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลออกไซด์ในภาวะที่มีออกซิเจนในขณะการปรุงประกอบอาหารด้วยความร้อนวิธีต่าง ๆ และการเก็บอาหาร
การศึกษาพบว่า เนื้ออบที่ปรุงด้วยน้ำมันรำข้าว เมื่อเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็นบ้าน 8 วัน จะมีปริมาณคอเลสเตอรอลออกไซด์เกิดขึ้นน้อยกว่าเนื้ออบที่ใช้น้ำมันพืชชนิดอื่น เมื่อร่างกายได้รับคอเลสเตอไรด์ออกไซด์น้อยจะลดการทำลายเซลล์ภายในหลอดเลือด ลดการสะสมเศษเซลล์ที่ตายภายในหลอดเลือด
นอกจากนี้ โทโคไตรอีนอลและโอรีไซนอล จะมีผลในการลดระดับของคอเลสเตอรอลโดยตรง โดยที่โทโคไตรอีนอล จะขัดขวางการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกาย ส่วนโอรีไซนอล จะลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลจากอาหารซึ่งตรวจพบอุจจาระของกลุ่มคนที่ได้รับโอรีไซนอล จะมีคอเลสเตอรอลมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโอรีไซนอล.
5. รำข้าวมีสารประกอบกลุ่มไฟโตสเตียรอลและกลุ่มไตรเทอปีนแอลกอฮอล์
ในพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชทุกชนิดไม่มีคอเลสเตอรอล แต่จะมีสารประกอบที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับคอเลสเตอรอล เรียก ไฟโตเสตียรอล ในน้ำมันรำข้าวมีไฟโตเสตียรอลมากกว่าน้ำมันพืชหลายชนิด ไฟโตเสตียรอลหลายชนิดจะลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล
สารกลุ่มไตรเทอปีนแอลกอฮอล์ไม่มีผลต่อการลดคอเลสเตอรอลในเลือด แต่สารกลุ่มไตรเทอปีนแอลกอฮอล์ และไฟโตสเตียรอล จับกับ Ferulic acid เป็นเอสเตอร์โมเลกุลใหญ่ เรียก โอรีไซนอล นั้นเองซึ่งเป็นสารกันการออกซิไดส์และลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลดังกล่าวแล้วข้างต้น
การศึกษาเปรียบเทียบผลของน้ำมันรำข้าวกับน้ำมันพืชชนิดอื่น ต่อปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
โดยให้อาหารที่ปรุงประกอบด้วย น้ำมันรำข้าวกับอาหารที่ปรุงประกอบด้วยน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันดอกคำฝอย ปริมาณไขมันรวมในอาหารและน้ำมันที่ใช้แต่ละชนิดเท่ากัน ส่วนประกอบน้ำมันรำข้าว มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง
ในขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันดอกคำฝอยมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันรำข้าวให้ผลลดระดับคอเลสเตอรอลรวม และ LDL-c และเพิ่มระดับ HDL-C ในเลือดด้วย ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกคำฝอยให้ผลลดระดับคอเลสเตอรอลรวม และ LDL-C เช่นกัน แต่ลด ระดับ HDL-C ในเลือด
Cr.น้ำมันรำข้าว ทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนไทย