รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeสารอาหารบำบัดโรค Nutrition

โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก (Probiotic and Prebiotic)

คำว่า probiotic มีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 หมายถึงสารจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ขับสารชีวภาพออกมาและช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่ง

ซึ่งตรงข้ามกับยาปฏิชีวนะ ที่จะทำลายจุลินทรีย์เกือบทุกชนิด

ต่อมาใน พ.ศ. 2532 คำจำกัดความล่าสุด หมายถึง อาหารเสริมซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต สามารถก่อประโยชน์ต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ (host) โดยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย จึงช่วยปรับสมดุลทำให้สุขภาพกลับคืนสู่ปกติ ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายดี และมีภูมิต้านทานสูง

จุลินทรีย์ หมายถึงสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และรา จุลินทรีย์ที่สำคัญคือแบคทีเรีย ปกติในลำไส้ของคนมีแบคทีเรียมากกว่า 500 ชนิด ซึ่งรวมกันทั้งหมดหนักถึง 1.5 กก. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือ

1. แบคทีเรียที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่ย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปให้เป็นสารที่มีประโยชน์ เช่น กรดอะมิโน ไวตามิน พลังงาน และสารต้านโรค

2. แบคทีเรียที่มีโทษ กลุ่มนี้จะย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปให้เป็นสารซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายไม่น้อยกว่า 36 ชนิด เช่น แอมโมเนียม, phenol, skatole และ indole เป็นต้น

แบคทีเรีย 2 กลุ่มนี้ถ้ามีในอัตรา 85% ต่อ 15% หรือ 6:1 ทำให้ร่างกายอยู่ในสมดุล มีสุขภาพดี

แบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ แบคทีเรียที่ดีมีชีวิตซึ่งเรียกว่า probiotic bacteria

เป็นแบคทีเรียที่ผลิตกรดแลคติกได้ (lactic acid bacteria) เช่น Lactobacillus adidophilus, Bifidobacterium bifidum, Enterococcus faecalis และ Streptococcus thermophilus

อาหารเฉพาะที่แบคทีเรียเหล่านี้ชอบและช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญได้ดี เรียกว่า อาหาร prebiotic

ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยจากผัก ผลไม้ เช่น ถั่วเหลือง หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง (asparagus) กล้วย chicory และ artichoke ซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่เป็น inulin และfructooligosaccharides

ต่อมาพบว่ามีสารอื่นอีกหลายชนิดในอุตสาหกกรมอาหารที่ช่วยการเจริญของ probiotic bacteria

เช่น gluconic acid ซึ่งเป็นสารให้รสเปรี้ยว calcium glucolonate , GDL (glucono delta lactone) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เต้าหู้แข็งตัว (เต้าหู้ 1 ชิ้นซึ่งหนัก 300 กรัม มี GDL ประมาณ 1 กรัม)

โดยจากการทดลองในหลอดทดลองพบว่า GDL ช่วยการเจริญของ B.adolescentis และการทดลองในผู้ใหญ่เพศชายที่มีสุขภาพดี พบว่าการบริโภค GDL 9 กรัม/วัน ช่วยเพิ่มปริมาณของ bifidobacterium จาก18% เป็น 45%

ฤทธิ์ทางชีวภาพ

 เชื้อโพรไบโอติกทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและผลิตสารอาหารที่ดีมีประโยชน์มาก เช่น

– ไวตามิน B12 ไวตามิน K และไวตามิน B อีกหลายชนิด เช่น niacin, pyridoxin, biotin

– สร้างสาร bacteriocins ได้แก่ acidolih, acidophilin, bulgarican, lactocilin และ nisin

ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น เชื้อที่ทำให้เจ็บคอ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (Helicobacter pylori)

เชื้อที่เกิดตามผิวหนังที่ทำให้เป็นแผลพุพองเรื้อรังและดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (methicillin-resistant Staphylococcus aureus; MRSA) เชื้อที่ทำให้ท้องร่วง (Escherichia coli, Salmonella, Listeria, Shigella) และเชื้อที่ทำให้เกิดการเน่าเหม็น Clostridium perfringens

– ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

– ช่วยสร้างเอนไซม์แลคเตสเพื่อย่อยน้ำตาลในนม ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น

– ช่วยให้มีการนำฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับมาใช้ใหม่ (recycle) จึงยืดระยะเวลาการหมดประจำเดือน และบรรเทาการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วย (เนื่องจากเอสโตรเจนช่วยการดูดซึมแคลเซียม)

– ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง รวมทั้งบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้โดยช่วยการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophages และ T-cells

ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการฉายรังสีและเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดมะเร็ง ลดอาการแพ้ คลื่นไส้ ผมร่วง ทำให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้นและพบว่าทำให้มีปริมาณฮีโมโกลบินสูงขึ้นด้วย

– ช่วยลดการเกิดสารก่อมะเร็งบางชนิด เช่น ไนโตรซามีน

– ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในสัตว์ทดลอง ทั้งในระยะเริ่มต้น (initiation) และระยะส่งเสริม (promotion) ของโรคมะเร็ง และในทางระบาดวิทยาพบว่า ลดอัตราเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคน

– สังเคราะห์กรดอินทรีย์ เช่น lactic acid, acetic acid, butyric acid ซึ่งมีความเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ต่อต้านเชื้อก่อโรคได้หลายชนิด ช่วยการสร้าง DNA และเพิ่มจำนวนเซลล์บุผิวในลำไส้ใหญ่ให้มีมากและแข็งแรง จึงทำหน้าที่ต้านเชื้อโรค และต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี

สรุป แบคทีเรียโพรไบโอติก คือแบคทีเรียที่มีประโยชน์

มีหน้าที่ย่อยอาหารที่กินเข้าไปให้เป็นสารที่มีประโยชน์ เช่น กรดแลคติก กรดอะมิโน ไวตามิน และสารต้านโรค

ฉะนั้น เราอาจแก้ปัญหาสุขภาพที่ไม่ได้เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง โดยการรับประทานแบคทีเรียที่มีประโยชน์ให้กับร่างกาย และอาหาร prebiotic เพื่อให้เกิดสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้สุขภาพกลับคืนสู่ปกติ และมีภูมิต้านทานสูง