ปลิงดูดเลือดสามารถทำความสะอาดโลหิตได้จริงหรือ?
ใช่…พวกมันทำได้แน่นอน แต่เฉพาะภายใต้สภาพการณ์ที่เหมาะสมเท่านั้น
ปลิงกับตัวอ่อนของแมลงเป็นสัตว์น่าขยะแขยง แต่ปัจจุบันพวกมัน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการช่วยบำบัดรักษามนุษย์
ในศตวรรษที่ 19 ปลิงถูกนำมาใช้บำบัดรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ปวดศีรษะจนถึงไอกรน
แต่แล้วก็เสื่อมความนิยมไปในศตวรรษที่ 20 แต่ก็ใช่ว่าจะหายไปเลย
การบำบัดแบบนี้มันกลับมามีบทบาทอีกครั้งในทศวรรษที่ 1970 และ 1980
เมื่อวารสารทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสและอังกฤษเริ่มรายงานผลการรักษาที่ได้ผล ปี ค.ศ. 1987
ศัลยแพทย์หลายคน ในเมืองบอสตัน ของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อพวกเขาใช้ปลิงระหว่างทำศัลยกรรมตัดต่อใบหูของเด็กชายวัย 5 ขวบที่ถูกสุนัขกัดขาดผ่านกลองจุลทรรศน์1
ปัจจุบันศัลยแพทย์ ที่หันมาใช้ปลิงช่วยในการผ่าตัดเชื่อมต่ออวัยวะ ปลูกถ่าย และทำศัลยกรรมพลาสติกเพิ่มจำนวนมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนิ้วหรือแขนขาโดนทับจนหลอดเลือดดำเสียหายอย่างรุนแรง
ปลิงช่วยให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก พวกมันดูดกินเลือดซึ่งจับตัวเป็นก้อนที่ทำให้หลอดเลือดดำอุดตัน
ประการที่สอง ปลิงสร้าง สารปัองกันเลือดจับตัวเป็นลิ่มในหลอดเลือดที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าสารสังเคราะห์จากห้องแล็บ 100 เท่า
ประการที่สาม รอยกัดเล็กๆ ของปลิง ซึ่งมีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์ของรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำให้เลือดไหลซึมออกมาเรื่อยๆ นานพอที่จะบรรเทาภาวะเลือดคั่งได้
ปลิงชนิดที่นิยมนำมาใช้บำบัดรักษามากที่สุด ได้แก่ Hirudo medicinalis อาศัยอยู่ในแถบยุโรป
เจ้าตัวดูดเลือดจิ๋วเป็นตัวเลือกแรกในการผ่าตัด เนื่องจากมันสร้างสารป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่มได้เป็นจำนวนมาก
ขณะนี้โรงพยาบาล 10 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอเมริกา ใช้ปลิงช่วยในการผ่าตัดคนไข้ผ่านกล้องจุลทรรศน์ และมันยังได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกในฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า มีปลิง Hirudo medicinalis ไว้ในสต๊อกมากที่สุด
ทั้งเพาะพันธุ์ เลี้ยง แล้วส่งออกทั่วโลก ในคลังยาของโรงพยาบาลจำนวนมาก ในฝรั่งเศส ที่มีปลิงเก็บไว้ในสต๊อก
นำการรักษาด้วยปลิงเข้ามาใช้เป็นกระบวนการปกติหลังการผ่าตัดแล้วด้วย
ขณะที่ในออสเตรเลีย ยังไม่มีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลิง เพื่อการค้า
บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Leeches USA
เป็นบริษัทลูกของ Accurate Surgical and Scientific Instruments Corporation of Westbury ในเมืองนิวยอร์ก
ส่วนบริษัท Biopharm Company of Hendy ในสหราชอาณาจักร ใกล้ๆ เมือง
สวอนซี เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงปลิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
บทความใน Australian DR Weekly ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 อ้างว่า
ไบโอฟาร์มสามารถเพาะพันธุ์และส่งปลิงขายราว 50,000 ตัวต่อปี2
ราคาปลิง เพื่อการนี้ อยู่ระหว่างตัวละ 7-8 เหรียญออสเตรเลีย
การเลี้ยงดูก็ไม่ยุ่งยาก แค่ให้พวกมันอยู่ในที่เย็นและชื้น เมื่อมันถูกส่งถึงโรงพยาบาลต้องให้อาหารน้อยมาก
เพราะหากหวังจะให้มันทำงาน ได้ผลดี ทันทีที่นำไปใช้กับคนไข้ก็ต้องปล่อยให้มันหิวตลอดเวลา
กระบวนการทั่วๆไป ในการใช้ปลิง เพื่อบำบัดรักษา เช่น เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายให้คนไข้เรียบร้อยแล้ว
เกิดเปลี่ยนสีจากชมพู เป็นดำเพราะหลอดเลือดดำทำงานไม่ดีเท่าที่ควร
หลังจากวินิจฉัยแล้วว่า ปัญหาเกิดจากหลอดเลือดดำอุดตันด้วยลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านได้เร็วพอ ก็จำต้องใช้ปลิงเพื่อขจัดลิ่มเลือดออก
แพทย์จะสวมถุงมือ จับปลิง ซึ่งแต่ละตัวมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร จำนวน 1 ตัวหรือมากกว่านั้นวางลงตรงบริเวณเนื้อเยื่อดังล่าว
ปล่อยให้มันดูดกินเลือดราว 1 ชั่วโมง จึงดึงออก แล้วทำลายมันด้วยการใส่ลงในภาชนะที่มีแอลกอฮอล์จนตายแล้ว
จึงเอาไปเผา ปลิงเป็นพาหะแพร่เชื้อเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และโรคที่เกี่ยวกับเลือดอื่นๆ ได้
ดังนั้น การทำลายจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
ดร.ชาร์ลส์ เลนต์ (Charles Lent) กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากปลิงในศตวรรษที่ 19 อาจทอดยาวมาถึงศตวรรษที่ 21
“ปลิงมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการถ่ายเอาเลือดออก จากบริเวณที่ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อหรือต่ออวัยวะ เมื่อเลือดคั่ง เนื้อเยื่อจะตายก่อนที่จะรักษาแผลหาย
นอกจากนี้ การเอาปลิงไปแปะให้มันดูดกินเลือดวันละครั้งสองครั้งในหนึ่งสัปดาห์ เท่ากับให้เวลาหลอดเลือดฝอยสมานแผลเย็บและซ่อมแซมระบบการไหลเวียนของโลหิต”3
1 Powers, M., “Blood-Sucking Leeches Come to the Rescue”, San Jose Mercury News, 17 January 1989, p.3C.
2 Juan, S., “Blood-Suckers and Maggots Become Tiny, Disgusting, Miracle Workers”, Sydney Morning Herald, 15 February 1990, p.14.
3 ดร.ชาร์ลส์ เลนต์ ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยรัฐยูทาห์
Cr. มหัศจรรย์แห่งร่างกาย