รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeเรื่องเล่าสะกิดสุขภาพ Health Story

สนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราหรือไม่?

ปี ค.ศ. 1979 เป็นครั้งแรก ที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งชี้ว่า เด็กในครอบครัวที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงเป็นมะเร็งกันมากขึ้น

แต่นักวิจัยอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมพลังงานยุคนั้น โต้ว่า เป็นเรื่องเหลวไหล

อย่างไรก็ตามการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิจัยอีกกลุ่มยืนยันการค้นพบของนักวิจัยกลุ่มแรก

หลังจากศึกษาค้นคว้าผ่านไปกว่า 20 ปี ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า เด็กซึ่งอาศัยอยู่ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง

อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่บริเวณอื่นเท่าครึ่งถึงสองเท่า1

จากการศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่า คนงานที่ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า เป็นมะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งในเม็ดเลือดในอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไป

น่าสนใจตรงที่มะเร็งทั้ง 3 ชนิดเป็นมะเร็งชนิดเดียวกับที่พบในการศึกษาเด็ก

ผู้ที่ทำงานในโรงไฟฟ้า ช่างไฟฟ้า และช่างติดตั้ง หรือซ่อมสายโทรเลข สายโทรศัพท์จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังห่างไกลต่อข้อยุติ เพราะนักวิทยาศาสตร์ บางคน ไม่เชื่อว่า อันตรายจากสายไฟฟ้าที่แขวนอยู่เหนือศีรษะมีจริง

เช่น ดร.โรเบิร์ต เอแดร์ (Robert Adair) อาจารย์ฟิสิกส์ ประจำมหาวิทยาลัยเยล อ้างว่า

ผลกระทบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีต่อสุขภาพ เปรียบเสมือนมนุษย์หมาป่า ซึ่งไม่มีจริง เขาเชื่อว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทนี้ อ่อนเกินกว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

แล้วเหน็บว่า “หากมีคนบอกคุณว่า ช้างหลังหัก เพราะใบไม้ใบหนึ่งหล่นใส่คุณต้องสงสัยแน่”

นักวิจัยอีกมากโต้ว่า ส่วนใหญ่ของงานวิจัย ซึ่งชี้ว่า มีอันตรายต่อสุขภาพนั้น ยังคลุมเครือ

อีกทั้งบางกรณีศึกษา ก็ไม่พบความเกี่ยวข้องระหว่างสุขภาพกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

ยิ่งกว่านั้นไม่มีผู้ใดตอบได้ว่า เหตุใดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า-ไม่ว่าอ่อนหรือแรงสูง-จะก่อให้เกิดอันตราย 

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เชื่อกันว่า รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถส่งผลกระทบต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในสองทางนี้เท่านั้น

ทางแรก โดยการแตกตัวเป็นไอออน (ionisation)

และอีกทาง โดยทำให้เนื้อเยื่อเกิดความร้อน เหมือนเช่นที่ไมโครเวฟทำ

เพราะสนามไฟฟ้าในร่างกาย ที่เกิดจากสายไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อ่อนกว่าสนามไฟฟ้าที่ร่างกายทำให้เกิดขึ้นเอง

สนามไฟฟ้าลักษณะนี้จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

การโต้แย้งด้วยเรื่องดังกล่าว ยิ่งสร้างความวิตกกังวล และสับสนมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่า…

ในสังคมอุตสาหกรรม แทบไม่มีพลังงานรูปแบบอื่นที่ดีกว่า หรือมีความสำคัญกว่าไฟฟ้าและน้ำมัน

หากปรากฏว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพจริง ย่อมหมายถึงว่า

ชาติอุตสาหกรรม จะต้องรับภาระอันหนักหนาสาหัส ในการช่วยกันลดความเสี่ยง

ทางออกส่วนหนึ่งอาจรวมถึงการเพิ่มระดับความสูงของสายไฟฟ้า การขยายพื้นที่ห้ามสร้างอาคารใต้สายไฟฟ้า และเดินสายไฟฟ้าแบบเฟสซิ่งไลน์ (phasing line) เพื่อให้สนามไฟฟ้าลบล้างกันเอง

แต่เราควรเปลี่ยนอะไรเป็นสิ่งแรก?

ประเด็นนี้ยังไม่ชัดแจ้ง รายงานฉบับหนึ่ง ของสำนักงานประเมินเทคโนโลยีแห่งสหรัฐอเมริกา สรุปว่า

หากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากสายไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคมะเร็งจริง บรรดาสายไฟ หลอดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านน่าจะมีอันตรายกว่าสายไฟฟ้านอกบ้าน

ท่ามกลางความไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญบางคน สนับสนุนมาตรการ “หลีกเลี่ยงเพื่อความไม่ประมาท” หรือสัมผัสสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้น้อยที่สุด

ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ และไม่สิ้นเปลือง

ดร.เลสลี่ โรบิสัน (Leslie Robison) กล่าวว่า “สำหรับตอนนี้ คุณควรพยายามอยู่ห่างจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้มากที่สุด แต่ไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่”2,3

มาตรการ “หลีกเลี่ยงเพื่อความไม่ประมาท” จากมันสมองของ ดร. เอ็ม. แกร็งเกอร์ มอร์แกน (M. Granger Morgan)

กลายเป็นวลียอดฮิต เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดร.มอร์แกนให้คำแนะนำวิธีลดความเสี่ยงที่ปฏิบัติได้โดยง่ายดังนี้4

– ย้ายเตียงห่างจากผนังห้องด้านที่สายไฟฟ้าเชื่อมต่อเข้ามาในบ้าน

– เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแผ่รังสีของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้น้อยลง เด็กๆ ควรนั่งห่างจากเครื่องรับโทรทัศน์อย่างน้อย 2-3 ฟุต

– หากวางนาฬิกาปลุกที่ใช้มอเตอร์ไว้บนโต๊ะข้างเตียง อาจเป็นแหล่งที่มาของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า พ่อแม่ควรให้ลูกๆ เปลี่ยนไปใช้นาฬิกาดิจิตอลหรือไขลาน

– ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ควรนั่งห่างจากจอมากกว่า 2 ฟุต และห่างจากเครื่องใกล้เคียงอย่างน้อย 3 ฟุต เพราะปกติแล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะแผ่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงที่สุดจากด้านข้างและด้านหลัง5


1 Levin, M., “Electric Field Safety: Debate Rages”, Los Angeles Times, 12 February 1994, pp.1, 2.

2 ดร.เลสลี่ โรบินสัน เป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาโรคลูคิวเมียในเด็กให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

3 Maxwell, B., “Electrifying Risk”, American Health, November 1990, p.85.

4 ดร. เอ็ม. แกร็งเกอร์ มอร์แกน เป็นวิศวกรไฟฟ้า แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน ในเมืองพิตต์สเบิร์ก

5 Levin, M., “Practicing Prudent Protection”, Los Angeles Times, 12 February 1994, p.2.

Cr.มหัศจรรย์แห่งร่างกาย