บทความ ความแข็งแรงทางด้านร่างกายของผู้บริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์
คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อฝังใจติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ว่าผู้บริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ จะเป็นคนอ่อนแอ ขี้โรค ซูบซีด ไม่มีแรง
และเชื่อว่าใครก็ตามที่บริโภคเพียงผักและผลไม้ ย่อมไม่สามารถมีร่างกายที่แข็งแรงและปราดเปรียวได้
แต่อาหารพืชผักที่สมบูรณ์ของมนุษย์ นอกจากจะมีผักและผลไม้แล้ว ยังควรจะต้องประกอบด้วย ข้าว ถั่ว เมล็ดพืชต่างๆ จึงจะสามารถให้สารอาหารครบถ้วนและเพียงพอ
จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารพืชอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ จะแข็งแรงกว่า คล่องแคล่วว่องไวกว่า ทรหดกว่า ผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอันมาก
ดร.เอช สกุทีเดน จากมหาวิทยาลัย เบลเยี่ยม ทำการทดสอบความทรหด ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ในการฟื้นตัวจากความอ่อนเพลียของกลุ่มคนที่บริโภคพืชเทียบกับกลุ่มคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ ปรากฏว่า กลุ่มคนที่บริโภคพืชเหนือกว่าทั้ง 3 ลักษณะ
ดร. เออร์วิง ฟิชเชอร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ได้ทำการทดสอบด้านความแข็งแรงของนักกีฬา อาจารย์แพทย์และพยาบาลของมหาวิทยาลัย พบว่าผู้บริโภคพืชมีแรงเป็น 2 เท่าของผู้บริโภคเนื้อ
ดร.เจ เอช เคลล็อกก์ แห่งสถาบันเสริมสุขภาพแบตเติลครีกในมิชิแกน ได้ศึกษาในทำนองเดียวกัน และให้ผลการสนับสนุนการทดลองของดร.ฟิชเชอร์
ดร. เจ ไอโอเตย์โก จากมหาวิทยาลัยบรัสเซล ทดลองพบว่าผู้บริโภคพืชสามารถใช้พละกำลังได้ทรหดกว่า พวกบริโภคเนื้อถึง 2-3 เท่า และพวกบริโภคพืชใช้เวลาฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย หลังจากการทดสอบเพียง 1/5 ของเวลาที่พวกบริโภคเนื้อสัตว์ใช้
ความจริงแล้วในบรรดาสัตว์ที่มีอายุยืนทั้งหลาย และมีพละกำลังมากที่สุดในโลกก็เป็นสัตว์กินพืชทั้งสิ้น เราสังเกตได้ว่า ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นสัตว์ กินพืช ที่ล้วน แต่มีร่างกายใหญ่โตแข็งแรง มีความทรหด อดทนสูง โดยไม่มีสัตว์กินเนื้อชนิดใดเลย ที่ทำงานหนักเช่นนี้ได้