โรคอะไรที่ทำให้เราเจ็บป่วยหรือตายมากที่สุด?
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ในช่วง 2 สัปดาห์ใดๆ ก็ตาม ประชากรโลก 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องล้มป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง หรือการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง
เกือบทั้งหมดของผู้ป่วย ที่ขาดแคลนสารอาหารอยู่ ในชาติด้อยพัฒนา ที่ทั้งสภาพโภชนาการและสุขภาพอยู่ในขั้นเลวร้าย
องค์การอนามัยโลกจัดทำบัญชีรายชื่อโรคซึ่งพบมากที่สุด ในโลก 10 โรค และจำนวนผู้ป่วยล่าสุด ดังนี้
ตับอักเสบบี (Hepatitis B) | : 2,000 ล้านคน |
วัณโรค (Tuberculosis) | : 1,700 ล้านคน |
โลหิตจาง (Anemia) | : 1,500 ล้านคน |
โรคพยาธิปากขอ (Ancylostomiasis) | : 700-900 ล้านคน |
โรคพยาธิตัวกลม (Ascariasis) | : 700 ล้านคน |
ท้องร่วง (Diarrhoea) | : 680 ล้านคน |
พยาธิแส้ม้า (Trichuriasis) | : 500 ล้านคน |
มาลาเรีย (Malaria) | : 270 ล้านคน |
ขาดธาตุไอโอดีน (lodin Deficiendy) | : 200 ล้านคน |
โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosonmiasis) | : 200 ล้านคน |
เอดส์ไม่อยู่ในบัญชีนี้ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์ประมาณ 10 ล้านคน
จากจำนวนประชากร 40 ล้านคน ที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ ในแต่ละปี
8 ใน 10 อยู่ในประเทศที่ยากจน และจากจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 14 ล้าน 3 แสนคน ที่เสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ
ในแต่ละปี เป็นเด็กในประเทศโลกที่สามถึง 98 เปอร์เซ็นต์
องค์การอนามัยโลกจัดทำบัญชี 10 โรคมรณะในโลกที่คร่าชีวิตมนุษยมากที่สุด มีบางโรคที่ทำให้เราแปลกใจอยู่ด้วย ดังนี้
โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases)
(เสียชีวิตปีละ 12 ล้านคน) แต่ละเดือน โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนไป 1 ล้านคน
หากรวมอาการหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองอุดตันเข้าไปด้วย มันจึงเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุด
หากมีโรคระบาดในศตวรรษที่ 21 ที่พอจะสูสีกับกาฬโรคในยุคกลาง ก็เห็นจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดนี้เอง
โรคท้องร่วง (Diarrhoea diseases)
(เสียชีวิตปีละ 5 ล้านคน) ส่วนใหญ่เกิดในประเทศโลกที่สาม
โรคลำไส้อักเสบ คร่าชีวิตมนุษย์ที่มีภาวะโภชนาการเลวร้าย ด้วยอาการสูญเสียน้ำอย่างช้าๆ
เด็กเล็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากอ่อนแอ
ในโครงการให้น้ำ (rehydration) ขององค์การยูนิเซฟ ได้มีการแจกเกลือและสารอาหารอื่นๆ ให้เด็ก
จึงสามารถช่วยชีวิตเด็กไว้ได้ปีละหลายล้านคน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10 เซ็นต์ต่อคน
โรคมะเร็ง (Cancer)
(เสียชีวิตปีละ 4 ล้าน 8 แสนคน)
น่าแปลกใจที่โรคมะเร็งซึ่งคร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุด ไม่ใช่มะเร็งทรวงอก มะเร็งปอด หรือมะเร็งปลายลำไส้ใหญ่
แต่เป็นมะเร็งตับ มะเร็งตับมักเล่นงานคนที่ตับอ่อนแอจากโรคตับอักเสบในวัยเด็ก
โรคปอดบวม (Pneumonia)
(เสียชีวิตปีละ 4 ล้าน 8 แสนคน)
โรคปอดบวม คือการอักเสบของปอด มีอย่างน้อย 105 รูปแบบ
มักเป็นโรคที่ถูกลืม ทั้งๆ ที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้มากพอๆ กับมะเร็ง
วัณโรค (Tuberculosis)
(เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน)
นี่ก็เป็นโรคที่มักถูกลืม เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า มันถูกกำจัดให้หมดไปแล้วจากประเทศที่มั่งคั่ง
แต่มันยังทำลายชีวิตผู้คนในประเทศโลกที่สามอยู่
ต้นตอของวัณโรคคือ มายโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (mycobacterium tuberculosis)
หลังจากมันฝังตัวแน่น อยู่ในปอดที่อ่อนแอ ก็จะกัดกินปอด ทำให้เกิดโพรงและเนื้อเยื่อแผลเป็น
การรักษาด้วยยาเพื่อไม่ให้มันกัดกินเนื้อเยื่อต่อไปมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 หากปราศจากยา วัณโรคก็จะลุกลาม
โรคที่เกิดจากการอุดตันของเนื้อเยื่อปอดอย่างเรื้อรัง (Chronic obstructive lung disease)
(เสียชีวิตปีละ 2 ล้าน 7 แสนคน)
เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
โรคหัด (Measles)
(เสียชีวิตปีละ 1 ล้าน 5 แสนคน)
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสพารามิโซ (paramyxovirus) พบมากในเด็ก แม้ในผู้ใหญ่เองจะไม่มีภูมิคุ้มกันเลยก็ตาม
โรคหัดเองไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ในรายที่อ่อนแอ โรคแทรกซ้อนอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคตับอักเสบบี (Hepatitis B)
(เสียชีวิตปีละ 1 ล้าน 2 แสนคน)
โรคตับอักเสบบี เกิดจากเชื้อไวรัส พบทั่วโลก
แต่เป็นโรคเฉพาะถิ่นที่พบในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ในแอฟริกา หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนใหญ่ และลุ่มแม่น้ำอะเมซอน
ไวรัสนี้แพร่กระจาย โดยอาศัยของเหลวในร่างกาย
และจากพาหะที่ไม่มีอาการของโรค หรือไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น
ออสเตรเลียล้อมรอบไปด้วยประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีสูง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงวิตกเมื่อประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ
โรคมาลาเรีย (Malaria)
(เสียชีวิตปีละ 1 ล้าน 2 แสนคน)
มาลาเรียคร่าชีวิตผู้คนไปมากพอๆ กับโรคตับอักเสบบี แพร่เชื้อจากการถูกยุงก้นปล่องกัด
ตัวยุงก้นปล่องไม่ใช่ต้นตอของมาลาเรีย แต่มันเป็นพาหะแพร่กระจายพลาสโมเดียม (plasmodium protozoa-ปรสิต)
ซึ่งเป็นตัวการให้เกิดโรคมาลาเรียกว่า 18 ชนิด
โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด
(เสียชีวิตปีละ 560,000 คน)
โรคนี้เกิดจากแบคทีเรีย clostridium tetani bacillus ที่ปล่อยสปอร์ออกมา และคุกคามชีวิตทารกระหว่าง 2-3 วันแรกหลังคลอด
เนื่องจากความสกปรกในการทำแผลที่สายสะดือ หรือการขริบหนังหุ้มปลายองคชาตทารกด้วย (เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาดหรือไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ)
หรือเกิดจากมารดาไม่มีภูมิคุ้มกัน ทารกที่เป็นโรคนี้ไม่มีโอกาสรอดชีวิต”
ผลการวิจัยพบว่า คนรวยเสียชีวิตด้วยโรคแปลกๆ มากกว่าคนจน เพราะคนรวยเดินทางมากกว่า
ดังนั้น จึงมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคแปลกๆ จากต่างประเทศมากกว่าคนจน
Cr.มหัศจรรย์แห่งชีวิต