รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

ระบบย่อยอาหาร

เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งนะครับว่า

อวัยวะที่ใช้ย่อยอาหารของมนุษย์นั้น มีเซลล์ประสาทพอๆ กับไขสันหลังเลยทีเดียว

เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเซลล์ทั้งหลายนี้มีหน้าที่อะไร แต่การที่มันมีตัวตนอยู่ในอวัยวะเหล่านี้ ก็เหมือนจะบอกเราเป็นนัยๆ ว่า

ยังมีกระบวนการอื่นเกิดขึ้นในระบบย่อยอาหารอีกมากที่เรายังไม่รู้

ไม่ใช่แค่กระบวนการย่อยอาหารให้เป็นสารเคมีอย่างเดียว

อีกเรื่องคือ

เราไม่ได้กินสารอาหาร แต่กินอาหาร

และอาหารก็อาจมีพฤติกรรมต่างจากสารอาหารที่มีอยู่ในตัวมัน

เมื่อการศึกษาทางระบาดวิทยา ที่เปรียบเทียบประชากรกลุ่มต่างๆ พบว่า…

แบบแผนอาหารที่มีผัก-ผลไม้ เป็นตัวยืนพื้น ช่วยป้องกันมะเร็งได้

นักวิจัยที่เชื่อว่า ข้อมูลนี้ มีข้อมูลความจริงย่อมเกิดคำถามขึ้นในใจเป็นธรรมดาว่า สารอาหารอะไรในพืชหนอที่มีฤทธิ์ป้องกัน

สมมุติฐานหนึ่งคือสารต้านอนุมูลอิสระจำพวกเบต้าแคโรทีน ไลโคปีน วิตามินอี ฯลฯ ในพืชผักสด

น่าจะเป็นปัจจัยที่พวกเขากำลังเสาะหา

เพราะมันอธิบายได้ในทางทฤษฎี

เนื่องจากสารเหล่านี้ (ซึ่งพืชผลิตขึ้นไว้ป้องกันตัวเองจากอนุพันธ์ออกซิเจนที่ไวต่อปฏิกิริยาที่เกิดในช่วงสังเคราะห์แสง)

ช่วยดูดซับอนุมูลอิสระ ในร่างกายไม่ให้ไปทำลาย DNA จนเกิดมะเร็งได้

อย่างน้อยผลของสารต้านอนุมูลอิสระก็เป็นเช่นนี้ในหลอดทดลอง

กระนั้นก็ดีเมื่อพวกเขาได้ดึงสารสำคัญนี้ออกจากบริบทที่มันดำรงอยู่ คือพืชมาผลิตเป็นยาเม็ด มันกลับป้องกันมะเร็งไม่ได้

แถมการศึกษาหนึ่งยังรายงานว่าบางคนที่กินเบต้าแคโรทีน รูปยาเม็ดกลับมีความเลี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิดสูงขึ้นอีกต่างหาก

อ้าว…แล้วกัน เกิดอะไรกันนี่ เราไม่รู้จริงๆ ครับ

ข้อสันนิษฐานนั้นมีมากมาย เป็นต้นว่า

ระบบย่อยอาหาร อาจชอบทำอะไรตามอำเภอใจ หรือยานั้นอาจไม่มีไฟเบอร์ (หรือสารอื่น) ที่พบในแครอท

มาช่วยป้องกันไม่ให้สารต้านอนุมูลอิสระโดนกรดในกระเพาะอาหารทำลายแต่เนิ่นๆ ก็ได้ ไม่เราก็อาจแยกสารต้านอนุมูลอิสระผิดตัว

เนื่องจากเบต้าแคโรทีนเป็นเพียงแคโรทีนตัวหนึ่ง

แคโรทีนในผักยังมีอีกเยอะ เราอาจสนใจแคโรทีนผิดตัว ไม่อีกทีก็อาจเพราะเบต้าแคโรทีนจะทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระก็ต่อเมื่อมีสารอื่นในพืชร่วมด้วยหรือมีปฏิกิริยาอื่นเกิดขึ้นพร้อมกัน

โดยหากไม่มีสารอื่นหรือปฏิกิริยาอื่นเกิดร่วม มันก็จะทำหน้าที่ก่ออนุมูลอิสระแทน

หากคุณได้ทราบว่าอาหารธรรมดาที่เรากินทั่วไป มีส่วนประกอบทางเคมีอะไรบ้าง คุณก็จะเข้าใจว่ามันซับซ้อนแค่ไหน

อย่างในใบไทม์ที่ปลูกในสวนนั้น เพียงสารต้านอนุมูลอิสระที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็ยาวเป็นพืดปานนี้แล้ว

อะลานิน ไขมันจำเป็นอะนิโทล อะพิเจนิน กรดแอสคอร์บิก เบต้าแคโรทีน กรดคาเฟอิก แคมฟืน

คาร์วาครอล กรดคลอโรเจนิ คริสโซอิไรออล กรดเดรูลิก อีริโอดิกไทออล ยูเจนอล 4-เทอร์ พินอล

กรดแกลลิก แกมม่าเทอร์พินีน กรดอิสิคลอโรเจนิก ไอโซยูเจนอล ไอโซไทโมนิน เคมเฟอรอล กรดลาไบเอติก

กรดลอริก ไลนาลิลอะสิเตด ลูเทโอลิน เมไทโอนีน เมอร์ซีน กรดไมริสติก นารินเจนิน กรดโรสมารินิก

ซีลีเนียม แทนนิน ไทมอล ทริปโทแฟน กรดเออร์โซลิก กรดวานิลลิก

ตอนคุณกินอาหารคลุกไทม์

สารที่คุณได้รับคือสารข้างต้น สารบางตัวอาจถูกย่อย บางตัวอาจถูกดูดซึมเข้าร่างกาย

เพื่อทำอะไรอีกร้อยแปดพันเก้าที่เรายังไม่ทราบ ณ ตอนนี้

เช่น อาจสั่งให้ยีนถอดหรือหยุดถอดพันธุกรรม อาจเข้าขัดขวางอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะไปวุ่นวายกับ DNA ในเซลล์

หากได้รู้ก็คงจะดี แต่ถึงจะไม่รู้เราก็ยังมีความสุขกับไทม์ได้อยู่ดี

เพราะเรารู้ว่ามันคงไม่เป็นอันตราย แน่ๆ (ในเมื่อใครๆ ก็กินมันมาแต่ไหนแต่ไร) แถมมันยังอาจดีต่อสุขภาพอีก (ในเมื่อใครๆ ก็กินมันมาแต่ไหนแต่ไร) และถึงมันจะไม่มีผลอะไรต่อสุขภาพ เราก็ยังชอบกลิ่นและรสของมัน