รักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันตนเอง
ในประเทศอังกฤษ มีบริษัทหนึ่งกำลังทดลองรักษามะเร็งรูปแบบใหม่ ด้วยการดัดแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย ให้ไปโจมตีเซลล์มะเร็ง
ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯหรือเอฟดีเอ (FDA) มีคำสั่งอนุมัติให้เวชภัณฑ์ เพื่อการดัดแปลงพันธุกรรมรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน “คิมเรียห์” (Kymriah) ซึ่งเป็นของบริษัทโนวาร์ตีส สามารถใช้กับคนไข้ทั่วไปได้แล้ว
การรักษามะเร็งเทคนิคนี้ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยรักษาตนเองโดยจะใช้เป็นทางเลือกสำหรับการรักษาผู้ป่วย”มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน” แบบลิมโฟบลาสติก (Acute Lymphoblastic Leukemia – ALL) ในกรณีที่การรักษาแบบดั้งเดิม เช่น การผ่าตัดหรือเคมีบำบัดไม่ได้ผล
วิธีการรักษาด้วยเทคนิคนี้ จะเริ่มจากสกัดเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด “ทีเซลล์” จากเลือดของคนไข้ แล้วนำไปผ่านกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยไวรัส
ซึ่งจะทำให้ได้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า CAR-T สำหรับนำกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว จะมีความสามารถในการค้นหาและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง
โดยสอดรับกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์มะเร็ง เมื่อเซลล์ที่ถูกดัดแปลงกลับเข้าสู่กระแสเลือด
จากการที่มีการทดลองกับคนไข้ 63 ราย พบว่าการรักษาด้วยเทคนิคนี้ ได้ผลถึง 83%
โดยคนไข้คนแรกที่รับการทดลองรักษาด้วยวิธีนี้ สามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยระยะสุดท้าย จนร่างกายปลอดจากเซลล์มะเร็ง เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว จนถึงตอนนี้ ทางบริษัทในประเทศอังกฤษ รักษาผู้ป่วยแล้ว 180 คน โดยได้ผลน่าพอใจ แต่อาจยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นี้ วางจำหน่ายในท้องตลาดได้
เทคนิคดังกล่าวยังสามารถนำไปพัฒนาต่อ เพื่อรักษามะเร็งให้ได้หลากหลายชนิดมากขึ้น โดยในปัจจุบันเทคนิคนี้ให้ผลดีกับการรักษาโรคจำพวกมะเร็งเม็ดเลือด แต่การรักษามะเร็งชนิดที่เป็นก้อนเนื้อแข็ง เช่นมะเร็งปอดหรือมะเร็งผิวหนัง นั้นยังให้ผลไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก
อย่างไรก็ตาม ค่ารักษาด้วยเทคนิคนี้ อยู่ราวๆที่ 475,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 16 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าเป็นเทคนิคการรักษาที่มีราคาแพงที่สุดวิธีหนึ่งของโลก
และยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างในกรณีที่เซลล์เม็ดเลือดขาวดัดแปลงพันธุกรรมแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็วเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตกับคนไข้ได้ ในปัจจุบันเทคนิคนี้มีการใช้ยาเพื่อจำกัดควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย
ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนายารักษามะเร็งอีกหลายชนิด ที่ใช้หลักการนำภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้าทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างเต็มที่
แต่อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ปีเตอร์ แจ็คสัน จากองค์กรวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักรเตือนว่า ยาเหล่านี้รวมทั้งเทคนิคการรักษาด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมที่ได้รับอนุมัติล่าสุด ยังคงเป็นเพียงขั้นแรกของความสำเร็จทางการแพทย์เท่านั้น
โดยยังจะต้องติดตามดูในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีการนี้ในระยะยาวต่อไป