รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

3 ระยะการรักษากระดูกเสื่อมในปัจจุบัน

ภาวะกระดูกเสื่อมเป็นภาวะเรื่อรัง เพราะแม้จะได้รับการรักษาอย่างดีแล้ว หลายรายก็ยังกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

ส่วนแนวทางการรักษาก็เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าความรู้ และการวิจัยทางการแพทย์ ทำให้เกิดความหลากหลายในการรักษามากขึ้น ไม่เหมือนการรักษาสมัยก่อนที่ให้แต่ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นจำนวนหนึ่งตัดสินใจออกไปรักษานอกระบบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเรียกว่า”การรักษาทางเลือก” ความแตกต่างในการรักษาภาวะกระดูกเสื่อมจึงยิ่งมากขึ้นด้วย

ในทางการแพทย์นั้น แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมของสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549 ระบุว่า

การให้ความรู้ผู้ป่วย ร่วมกับการสอนการออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักตัว โดยให้เพียงยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด

ณ ตอนนี้ ส่วนการทำกายภาพบำบัด การให้ยาบำรุงกระดูกอ่อนในข้อเพื่อชะลอการเกิดโรค การฉีดยาเข้าข้อ การส่องกล้อง หรือการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ได้ผลรองลงมา

1.ระยะแรก การรักษาอาการปวด

การรักษาภาวะกระดูกเสื่อมในระยะแรก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาการปวดถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่อาการปวดน้อยๆ ปวดเมื่อยล้า ปวดชา จนถึงปวดรุนแรงมากๆ

ซึ่งต้องตรวจวินิจฉัยก่อน และมักไม่เจอสิ่งผิดปกติ เพราะกลไกการทำให้เกิดอาการปวดในภาวะกระดูกเสื่อม ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก บางครั้ง เกิดจากการทำงานมากผิดปกติของเส้นประสาท จึงไม่พบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

แม้เอกซเรย์ตรวจดูตรงจุดที่ปวดก็ยังปกติดี ผลการตรวจเลือดก็ไม่ได้บอกความผิดปกติใด

วิธีรักษาอาการปวดเริ่มต้นจากการให้ยากิน แนะนําการปฏิบัติตัวลดความเครียด เพิ่มการออกกำลังกาย และการบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องมีการเพิ่มปริมาณยาหรือฉีดยาเพิ่ม ต่อจากนั้นก็มีการทำกายภาพบำบัดซึ่งมีหลายวิธี

ส่วนมากเป็นการใช้พลังงานทางฟิสิกส์มาลดอาการปวด เช่น ดึงหลัง ดึงคอ นวดด้วยมือ นวดไฟฟ้า วางผ้าร้อน

ใช้คลื่นต่างๆ ลดอาการปวด ตั้งแต่อัลตราซาวนด์ ช็อร์ตเวฟ (Short Wave) จนถึงช็อกเวฟ (Shock Wave) ซึ่งมีพลังงานสูงมาก

นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องพยุงส่วนต่างๆที่มีอาการปวด เช่น เสื้อพยุงหลัง ปลอกคอ สนับเข่า ถ้าพบว่ามีประวัติอุบัติเหตุร่วมอาจต้องใส่เฝือกช่วยด้วย

2.ระยะที่ 2 การรักษาอาการอักเสบ

เมื่อกระดูกเสื่อมมากขึ้น พบว่าการทำงานของเอ็นและกล้ามเนื้อ จะเริ่มผิดปกติด้วย เช่น อักเสบ ล้า อ่อนแรงเป็นครั้งคราว

บางครั้งก็เกร็งเป็นก้อน ซึ่งกรณีนี้มักพบมากตามหลัง คอ และอาจต่อเนื่องมาถึงไหล่ สะโพกได้ด้วย ทั้งนี้กล้ามเนื้อที่ทำงานมากเกินไปมักเป็นตะคริวได้บ่อย

ส่วนเอ็นที่อักเสบเรื้อรังมานานจะบวม กลายเป็นก้อนนูนแข็งได้เช่นกัน

สามารถคลำพบได้ตามจุดที่มีเอ็นอยู่ตื้นๆ เช่น ข้อมือและข้อศอก โดยเฉพาะในรายที่เคยฉีดยาเพื่อรักษาเอ็นอักเสบมาก่อนแล้ว ส่วนในรายที่เป็นนิ้วมือล็อกมักคลำพบก้อนได้ที่โคนนิ้วมือ

ถ้ามีอาการอักเสบติดต่อกันมาหลายเดือน การทำงานของข้อต่อที่อยู่ใกล้ๆก็อาจเสียไปด้วย เช่น เริ่มมีข้อติด ซึ่งเกิดจากเมื่อมีอาการปวดมาก

ผู้ป่วยก็จะไม่ยอมขยับข้อเลย หรือเกิดจากเอ็นที่บวมไปขัดอยู่ในทิศทางที่ข้อจะขยับผ่านเลยทำให้ข้อติด บางครั้งข้อก็บวมขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุและไม่มีอุบัติเหตุ

การรักษาในระยะที่ 2 นอกจากลดอาการปวดที่ยังไม่หายแล้วยังต้องรักษาอาการใหม่ที่พบด้วย อาจต้องเพิ่มปริมาณยาหรือฉีดยาเฉพาะที่เพื่อรักษาเอ็นที่อักเสบเรื้อรัง

ต้องส่งทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อ

ต้องเจาะเอาน้ำในข้อที่บวมออกแล้วใส่เฝือกอ่อน หรือพักการใช้งานระยะหนึ่ง ในรายที่เอ็นอักเสบเรื้อรังนานอาจต้องผ่า เพื่อขยายช่องพังผด เพื่อลดการกดทับเอ็นที่บวม

การป้องกันอาการปวดอักเสบให้เกิดน้อยลง แพทย์มักแนะนำเรื่องการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ

ในคนสูงอายุก็ให้บริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps exercise) ยกแข้งขาโดยใช้น้ำหนักถ่วงที่ข้อเท้า บริหารยกแข้งยกขาบ่อยๆนี้ช่วยได้มาก ผู้ป่วยหลายคนทำแล้วช่วยให้หายได้นานเป็นปี

3.ระยะที่ 3 การรักษาเพื่อซ่อมผลเสียจากการเสื่อม

เมื่ออาการรุนแรงขึ้น จากข้อที่อักเสบหรือบวมมีน้ำบ่อยๆ ก็กลายเป็นข้อเสื่อมและพัง เพราะมีการสึกมากขึ้นทุกปี

สังเกตได้จากการที่ข้อผิดรูป เข่าจะโก่ง นิ้วมือจะเอียง ข้อสะโพกทรุดจนทำให้เดินกะเผลก (จากการที่ขายาวสั้นไม่เท่ากัน) แขนขาอ่อนแรงจากกระดูกหลังและคอเสี่อม

ถ้าข้อเสื่อมในระยะแรกโดยยังไม่พบความพิการหรือผิดรูปต่างๆ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา ไม่ว่าอาการปวดเรื้อรังจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม

ข้อที่พบการเสื่อมบ่อยๆได้แก่ ข้อที่ต้อง”รับแรง” ตลอดเวลาทั้งๆที่ยังมีการบวมอักเสบอยู่ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ที่ต้องยืนเดิน นั่งยองๆทำงาน ก้มยกของ เป็นต้น

ส่วนข้อมือ ข้อนิ้วมือก็พบได้บ่อยเช่นกันเพราะต้องใช้แรงหยิบจับสิ่งของ ยิ่งคนที่ต้องใช้มือทำงานประจำ เช่น จับมีดหั่นของ ใช้กรรไกรตัดผ้านานๆทุกวัน หรือใช้นิ้วหยิบไม้กลัดทำกระทงเป็นอาชีพ ฯลฯ มักเกิดลักษณะมือผิดรูปได้บ่อย

การผ่าตัด

1.การรักษาในขั้นสุดท้ายจำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัด เพื่อเข้าไปซ่อมแซมการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นให้กลับมาเป็นปกติ เช่น เอ็นและกล้ามเนื้อที่อักเสบเรื้อรังจนถึงขั้นรุนแรงจะมีการฉีกขาดได้เอง

(Spontaneous rupture) โดยไม่จำเป็นต้องมีอุบัติเหตุเลย เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงมาจากคุณภาพของเนื้อเยื่อเอ็นที่เสียหรือเสื่อมไปมากแล้วนั่นเอง

ในระยะนี้การรักษาทางเลือกนอกจากจะช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ยังทำให้เสียโอกาสที่จะผ่าตัดช่วยให้หายและกลับมาเหมือนเดิมไปด้วย

เช่น เอ็นร้อยหวายขาดแล้วหลงไปรักษาทางเลือก จนเอ็นหดขึ้นไปสู่งมากไม่สามารถดึงลงมาในตำแหน่งปกติได้ ท้าให้สูญเสียกำลังไปมาก

2.ข้อที่เสื่อมมากแล้วก็ต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอหรือผ่าเปลี่ยนใส่ขอเทียม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือ เพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานของข้อกลับมาดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อรักษาอาการปวดโดยตรง หลังการผ่าตัดเมื่อการทำงานของข้อดีขึ้น เราก็หวังว่าอาการปวดจะดีขึ้นด้วย

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทุกราย เพราะการปวดจากข้อเสื่อมมีกลไกที่ซับซ้อน

การตัดสินใจผ่าตัดเพราะคิดว่าจะช่วยให้หายปวดร้อยเปอร์เซ็นต์จะได้หมดปัญหากระดูกเสื่อมเสียที จึงไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะมีอันตรายและมีความเสี่ยงสูงมาก

ความก้าวหน้าในเรื่องผ่าตัดข้อเทียมมักเป็นเรื่องแผลผ่าตัดเล็กลงเพราะมีการใช้หุ้นยนต์หรือเครื่องชี้นำ (Navigator) ในการผ่าตัด

การเพิ่มประสิทธิภาพข้อเทียมให้มีกลไกการทำงานคล้ายคลึงกับข้อตามธรรมชาติมากขึ้น แต่หลายคนมักไม่ทราบว่าข้อเทียมไม่สามารถเคลื่อนไหวในบางอิริยาบถได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น นั่งยองๆไม่ได้ งอเข่ามากๆก็ไม่ได้หรือบิดหมุนแขนได้ไม่มาก

คนที่เข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของการผ่าตัด ต้องรู้จักเปรียบเทียบว่าหลังการผ่าตัดจะช่วยให้ข้อหรืออวัยวะส่วนนั้นทำงานดีขึ้นกว่าเดิมมากน้อยแค่ไหน

ผลที่ได้ตรงตามที่ต้องการใช่หรือไม่ ไม่ใช่หลังผ่าตัดไปแล้วกลับทำงานได้น้อยลง สู้ข้อเดิมก่อนผ่าไม่ได้

ข้อเดิมที่เป็นธรรมชาติถ้ายังเสื่อมไม่มากจะใช้งานได้ดีกว่าขอเทียมเสมอ

Cr. เรียนรู้สู้กระดูกเสื่อม