ไตพังเพราะความเจริญ มลภาวะทางอุตสาหกรรม โลหะหนักและสารพิษ
มลภาวะทางอุตสาหกรรมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยสารเสียซึ่งมีตัวเด่น ๆ ต่อไปนี้คือ :
ไฮโดรคาร์บอน คาร์บอนมอนน็อกไซด์ ไดออกซิน และโอโซน จากกระบวนการเผาไหม้ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและควันรถยนต์
นอกจากทำให้สมองมึนงง ทางเดินหายใจอักเสบ ภูมิแพ้ ปอดเสีย กระทั่งมะเร็งปอดแล้ว
สารเหล่านี้ยังเป็นพิษต่อไต ถึงขั้นทำให้ไตวายได้อีกด้วย
โลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมี่ยม และปรอท
สารเหล่านี้ เป็นพิษ ทั้งต่อระบบประสาท ต่อตับ และไตด้วย
อันตรายต่อไต มีทั้งภาวะไตวายเฉียบพลันจากการต้องพิษแบบรุนแรง และไตวายเรื้อรังจากการต้องพิษที่รับเข้าไปวันละเล็กละน้อย
สารพิษเหล่านี้ เข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร
ก่อนอื่น คือ การสูดดมเข้าไปทางลมหายใจ
สองคือ ปนเปื้อนลงในอาหาร ที่ปรุงขายกัน ริมบาทวิถี และร้านอาหารที่มิได้ปกปิดเท่าที่ควร
และจากสารเสียของโรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชนเมือง ระบายลงสู่แม่น้ำและปากอ่าวไทย ไปปนเปื้อนในสัตว์น้ำ และอาหารทะเลที่คนเราจับมากินอีกทอดหนึ่ง
และทางที่สาม คือ จากการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง
มีการคำนวณพบว่า ปริมาณสารพิษ จากการสูดดมและสัมผัส สามารถเข้าสู่คนเราได้
มากเสียกว่าการกินดื่มเข้าไปโดยตรงเสียด้วยซ้ำไป
และทั้งหมดนอกจาก ทำให้ตับเสีย ก่อมะเร็งแล้ว ปัญหาไตวายก็แฝงเร้นเข้ามาทำลายชีวิตผู้คนอย่างที่เราคาดไม่ถึง
ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เมื่อ ปี 2538 โดยดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ระบุว่า
มลภาวะทางอากาศในเมืองหลวง มีแหล่งที่มา 2 แหล่ง
หนึ่ง คือ ยานพาหนะ
สอง คือ อุตสาหกรรม ทั้งจากการก่อสร้างเเละโรงงานอุตสาหกรรม
ในประเด็นเรื่องยานพาหนะ เขาตรวจพบว่า การจราจรในกรุงเทพฯ มีการเลื่อนไหล 7 กม./ชม.ในย่านธุรกิจ และไม่เกิน 20 กม./ชม.ในถนนทั่วไป
ผลรวม ทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ ในที่นี้กว่า 60% เป็นฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เข้าสู่ร่างกาย
ทั้งด้วยการสูดหายใจ และด้วยการกินเข้าไป กับอาหารข้างถนนรนแคม
ฝุ่นเหล่านี้มีที่มา 40% ควันดำของรถดีเซล อีก 40% เป็นฝุ่นการก่อสร้าง และอีก 20%จากโรงงานและแหล่งธรรมชาติ
ฝุ่นจากควันดำ คือ ไฮโดรคาร์บอน ก่อไตวายได้อย่างดี
ขณะที่ไดออกซิน จากการม้วนตัวของโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนที่ถูกเผาไหม้ ก่อให้เกิดมะเร็ง
ในอีกด้านหนึ่ง ฝุ่นจากการก่อสร้าง คือตัวการก่อไตวาย ปัจจัยสำคัญ คือ สีพ่นผนังและตัวอาคาร ซึ่งมีตะกั่วเป็นองค์ประกอบสำคัญ
คิดดูซิว่า อาคารสูงระฟ้าในกรุงเทพฯ ที่เร่งสร้างขึ้นมาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีมากมายมหาศาลขนาดไหน
การพ่นสี บนตึกระฟ้า จะถูกลมหอบให้กระจายตัวไปทั่วทั้งเมือง แน่นอนว่าผ้าใบหรือสังกะสีกี่ผืนที่ทางการกทม.บังคับให้ห่อหุ้ม อาคารที่ก่อสร้างนั้น
ทำอะไรไม่ได้กับการเก็บรับละอองจากสีพ่นเหล่านี้ ที่เป็นอณูขนาดจิ๋ว นั่น เท่ากับว่าเป็นการกระจายโรคไตวายให้กับคนทั้ง 6 ล้านคนเลยทีเดียว
ในปี 2532 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น ของการพัฒนาแห่งความเป็นนิกส์ ได้มีการตรวจวัดระดับสารตะกั่วที่สถานีตรวจวัด 8 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
พบว่า ระดับตะกั่วไต่อยู่ระหว่าง 0.001-0.004 มก./คิวบิก เมตร/วัน มีบางแห่งวัดได้ 0.006 มก./คิวบิกเมตร/วัน
ถ้าเทียบกับระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ 0.01 มก./คิวบิกเมตร/วัน ก็ยังพอจะสบายใจได้
แต่ถ้าดูตัวเลขของสารตะกั่ว ที่สะสมในคนกรุงเทพฯ
รายงานเมื่อปี 2536 อันเป็นระยะการพัฒนากำลังก้าวไกล ก็พบว่า ระดับสารตะกั่วในสายสะดือเด็ก จํานวน 32 คน พบว่ามีระดับสารตะกั่ว 18-20 ไมโครกรัม
ใกล้เคียงกับระดับ 25 ไมโครกรัม ซึ่งถือว่าเข้าขั้นคนป่วย
พญ.อรพรรณ์ เมธางดิลกกุล และคณะ พบว่าเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ 65% มีสารตะกั่วสะสมอยู่ในเหงือก
สำหรับคนขับรถเมล์ งานวิจัยของกองพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การเเพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษา เมื่อ มิ.ย.-ก.ค. 2535 สุ่มตัวอย่าง 24 คน
พบระดับตะกั่วในเลือด 8.83 ไมโครกรัม/ดล. เเม้จะต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/ดล.
แต่ปัญหาคืออาหารของพนักงานที่ขายกันข้างอู่ พบว่ามีสารตะกั่ว 89 ไมโครกรัม/อาหาร 1 กก. ขณะที่ระดับมาตรฐานอนุญาตให้ไม่เกิน 1 ไมโครกรัม
สารตะกั่ว นอกจากทำร้ายชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่แล้ว
กากตะกั่ว จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทิ้งขว้างอย่างไม่ระแวดระวัง ยังคุกคามสุขภาพของผู้คนในชนบทด้วย นั่นคือ เรื่องราวของสารตะกั่ว
ส่วนกรณีของแคดเมี่ยม สารตัวนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนไทยจากอุตสาหกรรมแร่สังกะสี
ได้มีการค้นพบว่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นแหล่งแร่สังกะสี ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ต่อมายังพบแหล่งแร่ที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน
แร่ดังกล่าวมีปะปนอยู่กับแคดเมี่ยม พลวง และทองแดง
ในกระบวนการถลุงแร่ จะได้กากโลหะออกมาด้วย
แคดเมี่ยมเป็นสารมีพิษร้ายแรงจะต้องผ่านกระบวนการเคมีอีกหลายขั้น เพื่อจะได้ไม่ปนเปื้อนเข้าไปสู่สิ่งแวดล้อม
สำหรับปรอท มีโอกาสเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ ในสภาพของเกลือปรอทคลอไรด์ ซึ่งเป็นผลพวงของอุตสาหกรรมผลิตโซดาไฟและก๊าซคลอรีน
ถ้ากำจัดไม่หมดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ จุลินทรีย์ในน้ำจะเปลี่ยนปรอทคลอไรด์ให้เป็นสารอินทรีย์ของปรอท ชื่อไดเมทิลเมอร์คิวรี
สารนี้จะสะสมในตัวปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ เมื่อคนเรากินสัตว์น้ำเหล่านี้ ก็จะสะสมในร่างกาย ตามเนื้อเยื่อไขมัน เช่น สมอง ระบบประสาท
ทำให้นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ความจําเสื่อม ถ้ามากก็ทำให้ไตวาย ทั้งชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรัง หรือเกิดอาการสมองเสื่อมและเสียชีวิตในที่สุด
กรณีโด่งดังก็คือโรคมินามาตะ ในญี่ปุ่น ที่เกิดจากสารพิษปรอทจากโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และพลาสติก
ในประเทศไทย ระดับสารโลหะทั้งสองชนิดนี้ ในอาหารทะเลที่จับจากอ่าวไทย แม้ว่ายังไม่ขึ้นสูงถึงระดับที่เป็นอันตราย แต่ก็มีตัวเลขที่บ่งบอกแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังรายงานเมื่อปี 2533 เรื่องระดับสารปรอทจากสัตว์น้ำในอ่าวไทย ได้แก่ ปลาหมึก ปูม้า ปลา กั้งตั๊กแตน และหอยนางรม มีระดับปรอทในอัตรา 0.035, 0.025, 0.021, 0.016 และ 0.017 มคก./กรัม
ครั้นถึงปี 2536 มีรายงานว่าระดับสารปรอทในปลาทะเลอยู่ในเกณฑ์ 0.5 มคก./กก.
สำหรับแคดเมี่ยมก็พบในปลาหมึกส่วนของลำไส้และในหมึกในระดับ 30 ppm
ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะหลายประเทศหยุดการนำเข้าปลาหมึกจากไทย
เหล่านี้เกิดจากน้ำแม่น้ำ ได้พัดพาสารโลหะหนักจากโรงงาน ขยะเมือง และท่อระบายน้ำโสโครก มาตกตามดินตะกอน ทำให้สัตว์น้ำที่ปากอ่าวไทยรับสารเหล่านี้เข้าไป
อย่างไรก็ดี ข้อมูลมาถึงปัจจุบันพบว่า สำหรับกุ้ง ปลาทะเล ยังมีความปลอดภัย แก่การบริโภคพอสมควร
แต่การสะสมสารพิษแล้วเกิดไตวายเรื้อรังเป็นของแน่นอน
ณ จุดนี้เราจึงเห็นได้ว่า ไตวายคือปัญหาของระบบ มันมากับ “ความเจริญ” ที่ไร้การควบคุม
เราซื้อมันมาด้วยมูลค่าแห่งชีวิต แต่เป็นความเจริญที่สร้างความร่ำรวยให้กับคนหยิบ มือหนึ่งที่เวียนอยู่ในหมู่นักธุรกิจก่อสร้าง นักอุตสาหกรรม นักการธนาคาร และนักปกครองบ้านเมือง
ส่วนพิษภัยต่อไตที่เกิดขึ้น คนทั้งประเทศช่วยกันแบกภาระ
Cr. คู่มือคนรักไต