ความอุดมสมบูรณ์จากท้องทะเล
คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายทะเลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์ ในมหาสมุทรทั่วโลก
เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางทะเล สาหร่ายทะเลจึงเข้าถึงความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารที่พบในท้องทะเลได้โดยสะดวก
คลื่นที่เคลื่อนไหวอ่อนโยนของกระแสน้ำใต้พื้นทะเล นำธาตุอาหารมาสู่สาหร่ายทะเล และพัดพาของเสียจากพืชไป
ผลลัพธ์คือสาหร่ายทะเลอัดแน่นไปด้วยแร่ธาตุและธาตุอาหารอื่นๆ ในระดับที่พบได้ยากจากพืชบนดิน
ถึงแม้นักชีววิทยาจะจำแนกสาหร่ายทะเลเป็นพืช แต่ลักษณะสำคัญเพียงอย่างเดียวที่มันเหมือนกับพืชบนดินทั่วไปคือ ความสามารถในการสร้างอาหาร (น้ำตาล) จากแสงแดด คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ
ทั้งสาหร่ายทะเล และพืชบกใช้ปฏิกิริยาเร่งทางเคมี ที่กระตุ้นด้วยแสงเพื่อการนี้
สาหร่ายทะเลสีเขียวจะเหมือนกับพืชบกที่ตัวเร่งคือรงควัตถุสีเขียวคลอโรฟิลล์ แต่สาหร่ายทะเลสีแดงและน้ำตาล จะมีรงควัตถุอื่นๆ มากกว่า เช่น ไฟโคอิริธริน ไฟโคไซยานิน และฟิวโคแซนธิน
วิธีหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใช้จำแนกสาหร่ายทะเล คือจำแนกด้วยรงควัตถุหรือสีของสาหร่าย
สาหร่ายทะเลกินได้ ส่วนใหญ่ที่เป็นที่นิยม เช่น วากาเมะ คอมบุ อาราเมะ และฮิจิกิ จัดเป็นพืชทะเลสีน้ำตาล(สาหร่าย)
ขณะที่โนริสาหร่ายทะเลที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุด จัดอยู่ในจำพวกพืชทะเลสีแดง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารงควัตถุสีที่ต่างออกไปทำให้สาหร่ายทะเลสามารถสร้างอาหารในทะเลลึกซึ่งความเข้มของแสงและความยาวคลื่นต่างจากที่พบบริเวณผิวน้ำ
ยกเว้นความสามารถในการสร้างอาหารแล้ว สาหร่ายทะเลมีความคล้ายพืชบกอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เนื่องจากมันไม่มีใบ ลำต้น หรือรากอย่างแท้จริง และยังสืบพันธุ์ด้วยวิธีดึกดำบรรพ์ที่ไม่ใช้ดอกและเมล็ด
โดยโครงสร้างแล้ว สาหร่ายทะเลเหมือนเห็ดและราอื่นๆ มากกว่า ตามมุมมองของพ่อครัวผู้หนึ่ง โครงสร้างง่ายๆ ของสาหร่ายทะเลถือเป็นสิ่งมีคุณค่า เนื่องจากไม่มีรากแข็งๆ และลำต้น จึงมีส่วนให้กินได้มากกว่า
สาหร่ายคอมบุ
ในทะเลอันเยียบเย็นนอกฮอกไกโด เกาะทางเหนือสุดของญี่ปุ่นสาหร่ายสีน้ำตาลที่รู้จักกันในชื่อ คอมบุ หรือเคลป์
เติบโตจนเป็นป่าใต้น้ำหนาทึบ แกว่งไกวไปตามจังหวะของท้องทะเล ในบางครั้ง ใบแต่ละใบชูขึ้นเหนือพื้นทะเลถึง 30 ฟุต (9 เมตร) หรือสูงกว่านั้น
ในบรรดาสาหร่ายคอมบุหลากหลายระดับจากท้องทะเลญี่ปุ่น สาหร่ายคอมบุจากเขตฮิดากะได้รับการยกย่องว่าเหนือกว่าที่อื่น
เมื่อถึงปลายฤดูร้อน สาหร่ายคอมบุจะพร้อมให้เก็บเกี่ยว ชาย-หญิงที่ลอยลำอยู่บนผืนน้ำในเรือพายขนาดเล็ก จะตัดสาหร่ายคอมบุโดยใช้มีดคมกริบที่ติดกับไม้ไผ่ลำยาว เมื่อสาหร่ายคอมบุลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ ก็ใช้คราดไม้เกี่ยวขึ้นมาไว้ในเรือ
ทันทีที่กลับถึงฝั่ง สาหร่ายคอมบุจะถูกแผ่ออกเพื่อผึ่งแดดให้แห้งอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติ
คุณภาพของสาหร่ายคอมบุฮิดากะโดดเด่นด้วยใบแบนกว้าง และสีที่เข้มสม่ำเสมอเมื่อแช่น้ำจนคืนรูป
แร่ธาตุสีขาวบนพื้นผิวของสาหร่ายคอมบุตากแห้งมีเกลือกลูตามิกธรรมชาติอันล้ำค่าที่ช่วยให้สาหร่ายคอมบุเป็นสารปรุงแต่งรสที่ล้ำเลิศ ไม่ควรล้างแร่ธาตุเหล่านี้ออก เพียงเช็ดสาหร่ายคอมบุด้วยผ้าชื้นๆ ก่อนนำไปใช้
สาหร่ายฮิจิกิ
กล่าวกันว่าเส้นผมดกดำหนาเป็นประกายของชาวญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริโภคสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ฮิจิกิ อยู่เป็นประจำ
ที่จริงแล้ว สาหร่ายทะเลเส้นกลมสีดำนี้ มีลักษณะคล้ายเส้นผม เพราะเติบโตอยู่ที่พื้นมหาสมุทร
การวิจัยเผยว่าแร่ธาตุ มีความสำคัญต่อการทำให้เส้นผมงอกงามแข็งแรง สาหร่ายฮิจิกิมีแร่ธาตุสูงอย่างเหลือเชื่อ ถึง 34 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม
ที่จริงแล้วสาหร่ายฮิจิกิมีแคลเซียมมากกว่านมวัวที่น้ำหนักเท่ากัน ดังนั้นคงมีความจริงอยู่บ้างในตำนานเรื่องนี้ของหญิงชาวญี่ปุ่นรุ่นเก่า
โบชูฮิจิกิ ซึ่งเก็บเกี่ยวจากคาบสมุทรโบชู บนฝั่งตะวันออกของเกาะใหญ่ของญี่ปุ่น คือสาหร่ายฮิจิกิคุณภาพสูงของญี่ปุ่น สภาพอากาศอบอุ่นของโบชูเหมาะกับสาหร่ายทะเลนี้ ซึ่งเจริญงอกงามอยู่ตามแนวกระแสน้ำที่เต็มไปด้วยโขดหิน
สาหร่ายทะเลชนิดนี้จะเก็บเกี่ยวในต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่รสชาติดีที่สุด
เมื่อกระแสน้ำลดต่ำจนเห็นแอ่งตื้น สาหร่ายฮิจิกิจะถูกตัดมาเข้าโรงงานเพื่อแปรรูป
หลังผ่านการล้าง สาหร่ายทั้งหมดจะผ่านการนึ่ง 9 ชั่วโมง ด้วยน้ำที่ออกมาจากสาหร่ายฮิจิกิเอง ถึงขั้นนี้ สาหร่ายจะนุ่มลงพอสมควรและเปลี่ยนสีจากน้ำตาลอ่อนเป็นสีดำ เมื่อทิ้งไว้ข้ามคืนให้เย็น ก็จะนำมาเป่าลมให้แห้งสนิทก่อนบรรจุ
กระบวนการดั้งเดิมของผู้ผลิตอาหารแนวธรรมชาติ จะแตกต่างจากวิธีที่ใช้กันทั่วไป เพื่อจัดเตรียมสาหร่ายฮิจิกิเชิงพาณิชย์
ในขั้นตอนเชิงพาณิชย์ จะมีการต้มสาหร่ายฮิจิกิด้วยน้ำเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างขั้นตอนการอบแห้ง ตุ่มตาเล็กๆที่คล้ายเมล็ดพืชของสาหร่ายฮิจิกิจะหลุดจากลำต้นเป็นจำนวนมาก ไปกองรวมกันอยู่ที่ก้นถังอบแห้งเหมือนกองเมล็ดพืชสีดำที่เก็บเกี่ยวมา
ขณะที่ผู้ผลิตหลายรายจำหน่ายสองสิ่งนี้แยกจากกัน ผู้ผลิตแบบดั้งเดิมมักผสมตุ่มตาที่มีธาตุอาหารกลับไปรวมกับกิ่งก้านสาหร่าย เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้บริโภคสาหร่ายทุกส่วน ไม่ใช่เพียงส่วนเดียว สาหร่ายฮิจิกิที่มีทั้งกิ่งก้านและตุ่มตา จะเรียกกันว่าสาหร่ายฮิจิกิทั้งต้น
สาหร่ายอาราเมะ
เช่นเดียวกับสาหร่ายฮิจิกิ อาราเมะเป็นสาหร่ายสีน้ำตาล แต่เติบโตในน้ำที่ลึกกว่า และมีรสชาตินุ่มนวลกว่ามาก
สาหร่ายอาราเมะคุณภาพดีที่สุดได้จากคาบสมุทรอิเซะ ที่ตั้งของอารามที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
ช่วงปลายฤดูร้อน ชาวประมงท้องถิ่นจะออกทะเลไปเก็บยอดสาหร่ายอ่อน เมื่อน้ำลง หรือดำน้ำตื้นๆ แล้วตัดสาหร่ายอาราเมะออกจากแขนเกาะยึด (โครงสร้างที่คล้ายรากของพืช) จากนั้นก็นำสาหร่ายเข้าเครื่องหั่นเป็นฝอย และผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับสาหร่ายฮิจิกิ
สาหร่ายโนริ
โนริ ของญี่ปุ่น คือสาหร่ายทะเลที่นำไปอบแห้งและรีดเป็นแผ่นบางๆ
สาหร่ายโนริ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างและปรุงง่าย อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินเอ บี และซี อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยแร่ธาตุหลากหลายชนิด โดดเด่นที่สุดคือแคลเซียมและธาตุเหล็ก
ชาวญี่ปุ่นบริโภคสาหร่ายโนริเกือบ 9 พันล้านแผ่นต่อปี สาหร่ายโนริ ยังได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่หลายของซูชิบาร์ ที่เสนอการผสมผสานอย่างหลากหลายด้วยการนำข้าว และผักหรืออาหารทะเลมาห่อด้วยสาหร่ายโนริ
เลียบแนวชายฝั่งทางเหนือของญี่ปุ่น ในเขตเซนได คือหมู่เกาะมัตสิชิม่า อันงดงามซึ่งปกคลุมไปด้วยต้นสน ตลอดชายฝั่ง
น้ำเย็นที่ยังบริสุทธิ์แห่งนี้ ดูเหมือนจะมีอ่าวเล็กๆ เงียบสงบและหาดตื้นๆ มีที่กำบังเรียงรายอยู่ไม่รู้จบ ซึ่งสมบูรณ์แบบต่อการเพาะเลี้ยงสาหร่ายโนริ
แม้ว่าเดิมที่จะเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ แต่ชาวญี่ปุ่นก็เพาะเลี้ยงสาหร่ายโนริมานานกว่า 300 ปี ตาข่ายทำจากเชือกถักถูกขึงโยงระหว่างเสาไม้ไผ่ยาวที่ตอกลึกไว้ในอ่าวที่มีคลื่นเบาๆ
ตลอดเวลาหลายเดือนในฤดูหนาว สาหร่ายโนริจะค่อยๆ เติบโตจนปกคลุมตาข่ายทั้งหมด ตาข่ายถูกวางตำแหน่งให้สูงอยู่เหนือระดับน้ำในช่วงน้ำลง เพื่อให้สาหร่ายโนริที่กำลังเติบโตได้รับแสงแดดเต็มที่ แต่เมื่อน้ำขึ้น ก็ได้รับการชะล้างใต้ระดับน้ำอย่างสม่ำเสมอ
ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ สาหร่ายทะเลสีแดงที่บอบบาง จะถูกเก็บรวบรวมจากน้ำ นำขึ้นไปบนฝั่ง นำสาหร่ายโนริไปล้างด้วยน้ำาทะเลเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ล้างด้วยน้ำสะอาด
สุดท้าย จึงนำไปผึ่งบนโครงไม้ไผ่ให้แห้งอย่างช้าๆ และระมัดระวัง โดยขั้นตอนจะคล้ายคลึงกับการทำกระดาษชั้นดี เช่นเดียวกับอาหารหลายชนิดในญี่ปุ่น
สาหร่ายโนริมีหลากหลายระดับ สาหร่ายโนริที่เลือกเฟ้นจากเซนได มีอยู่เพียง 1% ของสาหร่ายโนริ
ในญี่ปุ่นทั้งหมด ผิวสัมผัสที่เนียนเรียบ และสีเขียวเข้มโปร่งแสง คือตัวบ่งชี้คุณภาพชั้นเลิศ สาหร่ายโนริระดับต่ำกว่านั้นจะมีสีดำอมม่วงขุ่น และขาดความแวววาวแบบสาหร่ายโนริเซนได
เมื่อใดที่คุณภาพของสาหร่ายโนริมีความสำคัญ เช่นเวลาทำซูชิชั้นเลิศ สาหร่ายโนริเซนไดมักเป็นทางเลือกเสมอ
สาหร่ายวากาเมะ
การเพาะเลี้ยง วากาเมะ สาหร่ายสีน้ำตาล ตระกูลเดียวกับสาหร่ายคอมบุ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในญี่ปุ่น
ความเข้าใจลักษณะเฉพาะของวงจรชีวิตที่ซับซ้อนของสาหร่ายวากาเมะ ทำให้บรรดานักธุรกิจสามารถเพาะสาหร่ายวากาเมะต้นอ่อนในถังขนาดใหญ่ แล้วจึงย้ายไปปลูกที่พื้นมหาสมุทร
เมื่อสาหร่ายเติบโตพอที่จะหาอาหารเองได้ จากนั้น ก็ใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวสาหร่ายโตเต็มที่เพื่อนำไปอบลมร้อนจน แห้ง
แม้จะหายาก แต่ในญี่ปุ่นก็ยังมีการเก็บเกี่ยวสาหร่ายวากาเมะที่ขึ้นเองอยู่บ้าง หมู่บ้านประมงที่ห่างไกลบนชายฝั่งซานริกุทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลชั้นยอดและสาหร่ายวากาเมะที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ
น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก อันหนาวเย็นนั้น ใสสะอาดเป็นสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสําหรับสาหร่ายวากาเมะ
วากาเมะธรรมชาติจากชายฝั่งซานริกุมีพลังชีวิต และรสชาติลุ่มลึกที่สาหร่ายเพาะเลี้ยงไม่อาจเทียบได้ ไม่มีความคาว ใบก็นุ่มลิ้นและรสชาติดีเป็นพิเศษ
ที่บริเวณชายฝั่งซานริกุ การเก็บสาหร่ายวากาเมะเริ่มขึ้นช่วงต้น ฤดูไบไม้ผลิ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนมีนาคม
เมื่อสาหร่ายมีขนาดใหญ่เต็มที่และก่อนที่ใบจะเริ่มแข็ง ชาวประมงท้องถิ่น จะใช้เรือลำเล็กออกไปตัดสาหร่ายทะเลด้วยมือ โดยใช้เคียวยาวคมกริบตัดแขน ยึดเกาะ (โครงสร้างที่เหมือนราก) แล้วนำสาหร่ายวากาเมะกลับขึ้นฝั่งล้างเร็วๆ จากนั้นก็นำไปตากแดดหลายวัน จนกว่าสาหร่ายจะแห้งกรอบ
คันเต็น
ชาวตะวันตกเรียกกันว่าวุ้น คันเต็นคือเจลาตินผักแบบโบราณ
ผลิตแบบดั้งเดิมด้วยการนำสารสกัดจากสาหร่ายทะเลสีแดงหลากชนิดไปแช่แข็งแล้วตากแห้ง
คุณสมบัติความหนืดตัวตามธรรมชาติของคันเต็นรสชาติอ่อนๆ และปราศจากแคลอรี่ ทำให้มันเป็นที่โปรดปรานของพ่อครัวแม่ครัวทั่วโลกที่ใส่ใจสุขภาพ คันเต็นมีขายสำเร็จรูปทั้งแบบแท่งและแบบเกล็ด
ในปัจจุบัน คันเต็นแทบทั้งหมดผลิตด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่ ที่มีการใช้กรดซัลฟุริกเพื่อละลายแป้ง รวมทั้งใช้สารฟอกขาว และสีย้อมเคมีเพื่อปรับเปลี่ยนสีและรสชาติให้เป็นกลาง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตจำนวนน้อยที่ยังคงใช้กรรมวิธีแบบดั้งเดิม ที่ใช้แรงงานคนจำนวนมาก เช่น ครอบครัวมิโซกูชิ ในเทือกเขาจังหวัดนากาโนะ ญี่ปุ่นตอนกลาง
กรรมวิธีธรรมชาติโดยผึ่งแห้งด้วยหิมะเริ่มขึ้นที่ชายฝั่ง โดยเก็บเกี่ยวสาหร่ายทะเลสีแดง สกุลเจลิเดียมในฤดูใบไม้ร่วง มาตากแดดไว้จนแห้ง มัดสาหร่ายทะเลแห้งเป็นฟ่อนแล้วขนไปยังโรงงานมิโซกูชิเพื่อทำเป็นคันเต็น
ในช่วงเดือนฤดูหนาว เริ่มต้นในเดือนธันวาคม สาหร่ายทะเลจะถูกนำใส่หม้อใบใหญ่ที่ใส่น้ำไว้ ต้มนานหลายชั่วโมงจนได้สารคล้ายวุ้น ผึ่งไว้ให้เย็น ตัดเป็นก้อนๆ จัดเรียงบนถาดไม้ไผ่
วางไว้ข้างนอกบนนาข้าวที่มีหิมะปกคลุม ความชื้นในเจลาตินจะแข็งตัวในช่วงกลางคืน ละลายในช่วงกลางวันประมาณ 10 วัน ความชื้นจะหายไปหมด เหลืออยู่แต่คันเต็นบริสุทธิ์ที่เป็นแผ่นบางเบา
จากนั้นแผ่นคันเต็นที่กรอบ มีรูพรุน เบาเหมือนขนนกจะถูกนำไปขูดเป็นเกล็ดบางๆ และบรรจุหีบห่อ
การเลือกซื้อสาหร่ายทะเล
คุณภาพของสาหร่ายทะเลนั้น แตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับพืชผักบนบก
ในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่นายหน้าหรือพ่อค้าคนกลางจะจำหน่ายสาหร่ายทะเล คราวละมากๆ
สาหร่ายทะเลแบบขายส่งจะแบ่งบรรจุโดยให้ตราสินค้าของอาหารแนวธรรมชาติหรือของบริษัทต่างๆ ในเอเชียเพื่อส่งออกหรือจำหน่ายในประเทศ
สาหร่ายทะเลบางส่วนเพาะปลูกเลียนแบบธรรมชาติ บางส่วนเก็บจากหรือปลูกในน้ำปนเปี้อนสารพิษ
สาหร่ายทะเลคุณภาพดีที่สุด คือที่เก็บจากแหล่งน้ำสะอาดในเวลาเหมาะสม สาหร่ายทะเลที่ติดสลากของบริษัทอาหารแนวธรรมชาติมักจะซื้อจากผู้ผลิตดั้งเดิมรายย่อย ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บเกี่ยวสาหร่ายทะเลมาหลายทศวรรษ
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอ่านสลากอย่างถี่ถ้วน เมื่อเลือกซื้อสาหร่ายทะเล และตรวจดูสภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ ผู้ผลิตคุณภาพสูงจะบรรยายขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์ของตน
ด้วยความภาคภูมิใจไว้บนบรรจุภัณฑ์ สาหร่ายทะเลที่อยู่ในหีบห่อไม่ควรแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเลือกซื้อเฉพาะคันเต็นผลิตตามธรรมชาติทุกวันนี้คันเต็นแทบทั้งหมดที่พบในตลาดสินค้าเอเชีย ผลิตโดยใช้วิธีการสมัยใหม่ที่ใช้กรดซัลฟุริกและสารเคมีเพื่อฟอกขาวและย้อมสี คันเต็นธรรมชาติจะมีสีนวลและระบุไว้บนสลากว่าผลิตจากสาหร่ายทะเลเท่านั้น
Cr. มหัศจรรย์อาหารญี่ปุ่น