รวมความรู้ด้านสุขภาพ Health Knowledgeศาสตร์ชะลอวัย Anti-aging

5 ทฤษฎี ความชรา

เพราะเหตุใด ทำไมเราถึงแก่

1 ทฤษฎีอนุมูลอิสระ (Free Radical Theory)

อนุมูลอิสระ คือ อะตอม หรือโมเลกุลที่ไม่เสถียร

เนื่องจากโครงสร้างของมัน มีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยว

สามารถทำปฏิกริยาออกซิเดชั่นกับสารชีวโมเลกุลต่างๆภายในร่างกาย เช่น ดีเอ็นเอ ไขมัน โปรตีน

ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ภายในร่างกายถูกทำลายนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้อนุมูลอิสระยังสามารถกระตุ้นให้เกิดริ้วรอยและผิวหมองคล้ำ อันนำไปสู่ความชราทางด้านผิวพรรณได้อีกด้วย

2 ทฤษฎีเทโลเมียร์ (Telomere Theory)

เทโลเมียร์ คือ ส่วนปลายของโครโมโซม เป็นตัวกำหนดความชราและอายุขัย (Biomarker of aging)

ยิ่งใครมีเทโลเมียร์หดสั้นเร็ว ยิ่งตายไว ในการแบ่งเซลล์ทุกครั้ง เทโลเมียร์จะหดสั้นลง

แต่ร่างกายจะมีเอ็นไซม์ที่ชื่อ เทโลเมอร์เรส (Teromerase) มาซ่อมแซมให้เทโลเมียร์ กลับมายาวใหม่ได้อีก

อย่างไรก็ตาม ในเซลล์ทั่วไป เมื่อมีการแบ่งตัวไปได้ระยะหนึ่ง เทโลเมียร์จะหดสั้นลง จนไม่สามารถแบ่งเซลล์ต่อไปได้อีก

ก็จะส่งผลให้เซลล์ตาย ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดความแก่ชราขึ้น

ในขณะที่เซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ (Stem cell) และเซลล์มะเร็ง เอ็นไซม์เทโลเมอร์เรสจะทำงานมากกว่าปกติ

จึงมีการแบ่งเซลล์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เสมือนดังเซลล์เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย

3 ทฤษฎีการเชื่อมตามขวาง (Cross – Linking Theory)

ทฤษฎีนี้ อธิบายว่า ความชราเกิดขึ้นจากการเชื่อมตามขวางของโมเลกุลโปรตีน

ส่วนใหญ่จะพบการเชื่อมตามขวางมากที่สุด ในคอลลาเจนและอีลาสติน

ซึ่งเป็นเนื้อเยี่อเกี่ยวพันในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างร่างกาย

ในขณะที่เราอายุน้อย โมเลกุลของคอลลาเจนและโปรตีนในเซลล์จะเกาะกันหลวมๆ ทำให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อายุเพิ่มมากขึ้นโมเลกุลจะเกาะกันใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นลดลง เกิดความเสื่อมของเซลล์

นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า การมีน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เป็นสาเหตุที่ส่งเสริมการเกาะกันของโปรตีน (Cross-linkage)

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีน้ำตาลในเลือดสูงและการสูญเสียความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้เกิดความชราทางด้านผิวพรรณขึ้น

การรับประทานข้าวขาว แป้ง และน้ำตาลมากเกินไป ก็จะเพิ่มการเกิด “สารเร่งแก่” หรือที่เรียกว่า AGEs

ซึ่งจะทำลายโมเลกุลของคอลลาเจน

จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนอายุ 30 ปีขึ้นไป คอลลาเจนที่เสื่อมสภาพจากน้ำตาลที่กินเข้าไปจะเกิดขึ้น ประมาณ 3.7% ต่อปี

โดยเฉพาะคนที่ชอบทานหวานยิ่งเกิดเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่ายๆว่ายิ่งกินหวานมาก ยิ่งแก่เรานั่นเอง

4 ทฤษฎีฮอร์โมน (Hormonal Theory)

ระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุมากขึ้น มีผลทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อมชราขึ้นได้ เช่น

โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) คือ ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ

ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูก และสร้างภูมิคุ้มกัน

ระดับโกรทฮอร์โมนจะลดลง เมื่อร่างกายมีอายุเพิ่มมากขึ้น โดยโกรทฮอร์โมนจะลดลงหลังอายุ 30 ปี ในอัตราเฉลี่ย 1.4% ต่อปี

ดังนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โกรทฮอร์โมนก็จะหลั่งลดลง กระบวนการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็ลดลง

นำไปสู่ความเสื่อมของร่างกาย เกิดความชราและโรคเรื้อรังต่างๆตามมา (ลงพุง กล้ามหด หมดแรง)

เมลาโทนิน (Melatonin) คือ ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ และภูมิคุ้มกันของร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ระดับฮอร์โมนเมลาโทนินจะลดลง เมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุที่สำคัญ ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

จากการศึกษาพบว่า ระดับเมลาโทนินในกระแสเลือดของผู้สูงอายุ มีค่าเพียงครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาว

และยังพบว่า การหลั่งเมลาโทนินที่ลดลง มีความสัมพันธ์กับกลไกการเกิดความชรา

และเชื่อว่าเมลาโทนิน อาจจะชะลออัตราการเกิดความชราผ่านกระบวนการกำจัดอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยในการป้องกันความเสื่อมของร่างกายได้

เอสโตรเจน (Estrogen) คือ ฮอร์โมนเพศหญิง เมื่ออายุมากขึ้นเข้าสู่วัยทอง ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง

ส่งผลให้เกิดความชราทางด้านผิวพรรณ ผิวหนังเหี่ยวย่น ริ้วรอยเพิ่มขึ้น ระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น เสี่ยง ต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนสูงขึ้น

เทสโทสเทอโรน (Testosterone) คือ ฮอร์โมนเพศชาย มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นให้แสดงลักษณะความเป็นชาย

และรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ และแข็งแรง

เมื่ออายุเพิ่มขึ้นระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนจะลดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อลดลง ไขมันเพิ่มขึ้น เกิดภาวะอ้วนลงพุง

ทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง รวมทั้งส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศลดลง

5 ทฤษฎีภูมิคุ้มกัน (Immune Theory)

ทฤษฎีนี้ เชื่อว่าหากภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เราก็จะแก่ตัวลง ด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นกลไกที่มีความสำคัญที่สุด

เมื่อใดก็ตามที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ก็จะทำอันตรายแก่ร่างกายได้

ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์ทางการเเพทย์กันอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าโรคเรื้อรังต่างๆเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็มักจะเกี่ยวของกับการที่เรามีภูมิคุ้มกันลดลงเช่นกัน